เมื่อวันที่ 15 พ.ค. นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวถึงจุดยืนของ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังพรรคก้าวไกลประกาศรวมเสียงกับพรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้านเดิม รวม 6 พรรค 309 เสียง ว่าขอรอดูการรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลก่อน ยังไม่ถึงขั้นตอนของ ส.ว. ถ้าตั้งรัฐบาลได้แล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่หน้าที่ ส.ว. ส่วนที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุจะตั้งรัฐบาล 309 เสียงนั้น ต้องรอให้ถึงเวลาพิจารณาก่อน ขั้นแรก ส.ส. ต้องไปรวมให้ได้มากกว่า 250 เสียงก่อน

“เมื่อมาถึงขั้นตอนเลือกนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 272 ส.ว. จะพิจารณาคุณสมบัติคนเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เบื้องต้นจะต้องมีคุณสมบัติจงรักภักดีต่อ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นหลัก ถ้าใครมีคุณสมบัติจุดนี้ ส.ว. จะพิจารณา ส.ว. ทุกคนมีคุณวุฒิ วัยวุฒิจะตัดสินใจด้วยตัวเอง ถ้าเป็นรัฐบาลพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยและขั้วฝ่ายค้านเดิมจะตั้งรัฐบาล ก็ขอให้รอถึงวันนั้นจึงจะพูดได้ พูดไปก่อนยังไม่ถึงเวลาไม่เหมาะสม อย่างกรณีนายพิธานั้น กกต. ก็กำลังพิจารณาเรื่องร้องเรียนอยู่ ต้องรอดูผลเป็นองค์ประกอบ และดูหลายปัจจัย”

เมื่อถามว่า ส่วนที่ ส.ว. อาจถูกตำหนิ ถ้าไม่เลือกฝ่ายที่ได้คะแนนจากประชาชนนั้น นายกิตติศักดิ์ กล่าวยืนยันว่า ส.ว. ไม่มีธง แต่เรามองไปไกลว่า บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร เลือกใครมีปัญหาหรือไม่ ถ้าเป็นการชักศึกเข้าบ้าน มีความขัดแย้ง มีการเดินลงเต็มถนนอีกหรือไม่ ต้องมองหลายมิติ ขอให้ถึงเวลานั้นก่อน แล้ว ส.ว. จะตัดสินใจเพื่อบ้านเพื่อบ้านเมือง

ทางด้านนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. กล่าวถึงจุดยืนของ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังพรรคก้าวไกล ประกาศรวมเสียงกับเพื่อไทยและฝ่ายค้านเดิม 309 เสียง ว่าเมื่อพรรคเสียงข้างมากรวมกันแล้ว แต่มีการระบุว่าจะให้เสียง ส.ว. ลงคะแนนให้ด้วยนั้น ตนที่เป็น ส.ว. มา 4 ปี มองว่าเป็นไปไม่ได้ โดยพรรคที่จะเป็นรัฐบาลต้องไปหาเสียงให้ได้ 376 เสียงเองก่อน อย่ามาหวังพึ่งเสียง ส.ว. โดยจะไปเอาพรรคภูมิใจไทย มาร่วมก็ได้แล้ว เพื่อ ส.ว. จะได้ปิดสวิตช์ ส.ว. ไปเลย เพราะถ้า ส.ว. มีการงดออกเสียง ก็จะทำให้เสียงไม่ถึง 376 อยู่แล้ว

“ต้องยอมรับว่า ปัจจัยของ ส.ว. ไม่ใช่เรื่องเสียงที่ได้รับจากประชาชนหรือเสียงข้างมากอย่างเดียว เพราะต้องดูว่าใครตั้ง ส.ว. ชุดนี้มีที่มาอย่างไร”

นายเฉลิมชัย กล่าวยอมรับ ส.ว. มีเสียงแบ่งเป็นกลุ่มๆ มี ส.ว. อิสระไม่ถึง 20 คน เวลาลงมติจริงก็ไม่รู้จะอิสระหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่างที่มีข้อเสนอให้ตัดอำนาจ มี 23 ส.ว. เห็นด้วย แต่กลุ่มนี้อาจงดออกเสียงในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี และจะเอา 23 คน มาบอกว่าโหวตตามเสียงข้างมากไม่ได้ ดังนั้นเขาต้องรวมเสียงให้ได้ 376 เสียง ไม่เช่นนั้นก็ผ่านไม่ได้ และถ้ารัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไม่ได้ พรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องไปหาพรรคอื่นมารวมให้ได้ 376 เพื่อเลือกครั้งที่ 2 อีกครั้ง ซึ่ง ส.ว. ทุกคนมีอิสระ

“ส่วนตัวมีจุดยืนชัดเจนว่า ฝ่ายใดรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง จะโหวตให้ฝ่ายนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นคนของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ก็พร้อมโหวตให้ แต่กับ ส.ว. คนอื่นๆ ไม่กล้าการันตีจะคิดแบบเดียวกันหรือไม่” นายเฉลิมชัย กล่าว