วันที่ 3 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าว ได้รับแจ้ง 2 สามีภรรยาเจ้าของร้านข้าวจี่มูนกลางเมืองกาฬสินธุ์  ยืนหยัดทำข้าวจี่ขายตลอดปี ไม่มีวันหยุด ปรับปรุงรสชาติจากสูตรดั้งเดิม โดยใช้ข้าวเหนียวเขาวงมาตรฐาน Gi ผสมน้ำกะทิ ไข่เป็ด และเกลืออนามัย เป็น “ข้าวจี่มูน” มานานกว่า 30 ปี ปัจจุบันวางขายทั้งหน้าร้าน บริการส่งโดยไรเดอร์ฟู้ดแพนด้า และไรเดอร์แกร็บ มีรายได้ถึงวันละ 2,000 บาทหรือเดือนละ 60,000 บาท สามารถสร้างเนื้อสร้างตัว ผ่อนส่งบ้านราคา 3 ล้านบาทได้สบาย เป็นตัวอย่างของคนสู้ชีวิต โดยเฉพาะในยุคสถานการณ์โควิด-19 โดยร้านปูข้าวจี่มูน อยู่บนถนนธนะผล หลังโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เลขที่ 49/3 เจ้าของกิจการ 2 สามีภรรยาคือนายธวัชชัย ศรีคัดเค้า อายุ 49 ปี และนางกาญจนา ศรีคัดเค้า หรือปู อายุ 48 ปี เป็นเจ้าของร้าน กำลังให้บริการขายข้าวจี่ ให้กับลูกค้า พร้อมรับออร์เดอร์ส่งอาหารทั้งไรเดอร์ฟู้ดแพนด้า และไรเดอร์แกร็บ ที่ทยอยมารับข้าวจี่มูนอย่างไม่ขาดสาย นอกจากนี้ยังเข้าร่วมโครงการกับรัฐคนละครึ่ง อีกด้วย

นายธวัชชัย กล่าวว่า เดิมตนเปิดร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ เช่าร้านที่อยู่ข้างร้านขายข้าวจี่ ค่าเช่าเดือนละ 6,000 บาท โดยเปิดมานานกว่า 10 ปี ขณะที่ นางกาญจนา ภรรยา เป็นแม่บ้าน และขายของเล็กๆน้อยๆหน้าร้าน พอมีรายได้เสริมเลี้ยงลูกและส่งเสียลูกชาย 2 คนเรียนหนังสือจนจบปริญญาตรี ก่อนหน้านั้นอาชีพช่างซ่อมรถจักรยานยนต์พอไปได้เรื่อยๆ เพราะร้านซ่อมมีน้อย ต่อมาระยะหลัง ร้านซ่อมตามหมู่บ้านและในเมืองผุดขึ้นมามาก อีกทั้งสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 แทบจะไม่มีลูกค้าเข้าร้านเลย เริ่มต้นจากทดลองปั้นข้าวจี่ขาย สูตรข้าวจี่มูน มาวางขายหน้าร้าน และมีสินค้าของกินต่างๆ  เช่น หมูทอดแดดเดียว กากหมูเจียว ลูกชิ้น กาแฟ น้ำผลไม้ต่างๆ ขายเป็นอาหารเสริม เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ลูกค้า ซึ่งปรากฏว่าขายดีขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งมีออร์เดอร์สั่งมาเป็น 500-1,000 ก้อน ทำคนเดียวไม่ทัน ตนจึงตัดสินใจปิดร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ มาเป็นลูกมือช่วยภรรยาทำข้าวจี่มูนขายอย่างจริงจังและเป็นอาชีหลักถึงปัจจุบันนี้

ด้าน นางกาญจนา ศรีคัดเค้า หรือปู เจ้าของสูตร “ปูข้าวจี่มูน” กล่าวว่าสาเหตุที่ทำข้าวจี่มูนขายเป็นอาชีพหลักนั้น เนื่องจากชอบทำข้าวจี่หรือปิ้งข้าวจี่มาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก ซึ่งจะทำกันในฤดูหนาว โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ ซึ่งจะนำข้าวเหนียวใหม่ ที่นึ่งสุกใหม่ๆ มีกลิ่นหอม มาปั้นเป็นก้อนแล้วจี่ไฟ ขณะนั่งล้อมวงผิงไฟเพื่อควายหนาวตามประสาชาวบ้านอีสาน ซึ่งพอสิ้นสุดฤดูหนาว ไม่ได้ผิงไฟ ก็จะไม่มีข้าวจี่รับประทานกัน กว่าจะได้ทานข้าวจี่อีกครั้ง ก็ต้องรอกันเป็นปีๆ ทีเดียว หรือที่เรียกว่ามีปีละครั้งเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้ทานข้าวจี่กัน

นางกาญจนากล่าวอีกว่า หากนึกอยากทานข้าวจี่ในฤดูกาลอื่นๆ เช่น ช่วงหน้าร้อน หรือหน้าฝน ข้าวที่จะเอามาทำข้าวจี่ก็ไม่ใช่ข้าวใหม่ กลายเป็นข้าวเก่าไปแล้ว กลิ่นหอมของเมล็ดข้าวก็หายไป นำมานึ่งสุกหรือทำข้าวจี่ก็ไม่หอมอร่อยเหมือนข้าวใหม่ ในช่วงหน้าหนาวหรือปีใหม่ ตนจึงเกิดไอเดียที่จะทำข้าวจี่ที่สามารถทานได้อย่างอร่อยตลอดปี ก็ลองผิดลองถูกมานาน ก่อนที่จะลงตัวที่สูตร “ข้าวจี่มูน” ในปัจจุบัน โดยตั้งชื่อว่า “ปูข้าวจี่มูน”