แต่ภายใต้นาข้าวเขียวขจีและแลนด์สเคปขั้นบันไดอันงดงามแปลกตานั้น คือภูมิปัญญาโบราณอายุกว่า 2,000 ปี ที่แฝงปรัชญาอันลึกซึ้ง จนได้รับเลือกเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2555 ที่ถูกใช้ชื่อเป็นทางการว่า ภูมิทัศน์วัฒนธรรมเขตบาหลี : ระบบสุบักหลักการตามปรัชญาไตรหิตครณะ (Cultural Landscape of Bali Province : The Subak System as a Manifestation of the Tri Hita Karana Philosophy)

ทั้งนี้ บาหลีมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่บนปากปล่องภูเขาไฟที่ดับสนิท 4 แห่ง ซึ่งอยู่เหนือระดับพื้นดิน 1,200 เมตร ทำให้น้ำซึมลงใต้ดิน และเกิดเป็นตาน้ำให้กับแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่อยู่ต่ำลงไป ซึ่งระบบชลประทานของบาหลีเป็นการส่งน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ และเพื่อกระจายน้ำสู่พื้นที่การเกษตรอย่างทั่วถึง จึงเกิด ระบบสุบัก (Subak) ขึ้นมา ที่ยึดหลักบริหารน้ำอย่างเท่าเทียมเพื่อความเสมอภาคในการเพาะปลูก โดยมีศาสนาเป็นเครื่องยึดโยง ซึ่งระบบนี้เป็นวิธีชลประทานดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 และนอกจากนั้น ด้วยความที่ชาวบาหลี มีความเชื่อและศรัทธาต่อศาสนาฮินดู การบริการจัดการนั้นของชาวบาหลี จึงสะท้อนแนวคิดปรัชญาไตรหิตะครณะ (Tri Hita Karana) ออกมาด้วย ซึ่งแนวคิดนี้จะเน้นสร้างความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า มนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งระบบ “สุบัก” นี้ จะคล้ายกับ “ระบบสหกรณ์ชาวบ้าน” ที่จะมีการกำหนดพื้นที่หรือขอบเขตเอาไว้ โดยหนึ่งสุบัก อาจมีเนื้อที่ไม่กี่ไร่ไปจนถึงพันไร่ และจะบริหารกันเองโดยคนในหมู่บ้านผ่านการตกลงร่วมกันภายใต้เงื่อนไข 4 ข้อ ได้แก่

1.สมาชิกจะเกี่ยวข้าวได้ตามตารางเพาะปลูกที่กำหนดร่วมกันเท่านั้น

2.สมาชิกต้องช่วยรักษาระบบชลประทานที่ใช้เพาะปลูกแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย

3.มีการกำหนดรูปแบบ กระบวนการบริหารความขัดแย้ง และไกล่เกลี่ยระหว่างสมาชิก

4.มีข้อตกลงการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาร่วมกัน และที่สำคัญ ชาวบาหลียังถือว่าน้ำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และมีเทพเจ้าคุ้มครองอยู่ ทำให้น้ำที่ไหลจากตาน้ำและลำคลองต้องผ่านวัดไปสู่นาข้าว หรือเรียกว่า “อุทกอาราม” หรือ “วัดน้ำ” ที่เปรียบเสมือนเป็นศูนย์รวมความร่วมมือและพื้นที่บริหารการแจกจ่ายน้ำ เพื่อการเพาะปลูกอย่างเสมอภาคในรูปแบบประชาธิปไตย

โดยวัดน้ำที่สำคัญ ๆ มีอาทิ วัดอูลันดานูบาตู (Pura Ulan Danu Batu) ที่สร้างอุทิศแด่พระวิษณุและเทพธิดาเทวีดานู ผู้ปกป้องทะเลสาบบาตู ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาไฟทางทิศเหนือของเกาะบาหลี, วัดหลวงตามันอายุน (Pura Taman Ayun) เป็นวัดใหญ่ที่สุดและโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมมากที่สุด ทั้งเป็นตัวอย่างของระบบสุบักที่ขยายตัวเต็มที่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24, วัดเตียร์ตาอัมปึล (Pura Tirta Empul) วัดแห่งน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ ที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 15 ซึ่งตาน้ำที่ผุดขึ้น มีต้นน้ำจากภูเขาไฟ โดยชาวบาหลีจะนิยมมาอาบน้ำเพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่วัดนี้

อนึ่ง นอกจากการจัดสรรแบ่งปันน้ำอย่างเป็นธรรม ที่ทำให้ระบบนี้ดำรงอยู่มาได้ยาวนานแล้ว ภายใต้ปรัชญาและแนวคิดนี้ของชาวบาหลี ในการเพาะปลูกแต่ละครั้ง ชาวบ้านจะต้องมาตัดสินใจร่วมกันว่าจะปลูกพืชชนิดใด เนื่องพืชแต่ละชนิดจะใช้น้ำไม่เท่ากัน ส่วนชุมชนต้นน้ำชั้นบน ซึ่งได้เปรียบกว่าชั้นล่าง ก็จะต้องควบคุมน้ำอย่างยุติธรรม เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สมดุล ทั้งนี้ “ระบบสุบัก” ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของ “แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นต้นแบบให้อีกหลาย ๆ ประเทศ รวมถึง “ประเทศไทย” ให้หันมาสนใจ “ภูมิปัญญาดั้งเดิม” เพื่อการบริหารจัดการ “ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน”.