นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมทั้งการเพิ่มสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้เอสเอ็มอี และลูกหนี้รายย่อย รวมถึงมาตรการสนับสนุนการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน เน้นให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างระยะยาว ตรงจุดและเหมาะสม แทนการพักชำระหนี้ระยะสั้น ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 64 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขหนี้เดิมให้ยั่งยืน เช่น ให้ลูกหนี้จ่ายชำระแบบต่ำก่อน และค่อยๆทยอยปรับเพิ่มขึ้น หากลูกหนี้มีรายได้กลับมา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้ลูกหนี้ได้เข้ามาตรการได้มากและรวดเร็วผ่านโมบายแบงก์กิ้ง หรือเครื่องมือออนไลน์ ซึ่งธปท.ได้มีแรงจูงใจเอื้อให้สถาบันการเงินช่วยเหลือ ทั้งเรื่องการคงจัดชั้นสำรองได้จนถึงวันที่ 31 มี.ค.65 และใช้เกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นจนถึงสิ้นปี 66 แต่ถ้าความช่วยเหลือลูกหนี้ยาวกว่าปี 66 ธปท.จะนำมาพิจารณาเรื่องเกณฑ์นี้อีกครั้ง
“สิ่งสำคัญคือการออกโปรดักท์ โปรแกรม ของสถาบันการเงินให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละราย และให้ตอบโจทย์อย่างที่ได้ร่วมมือกัน ซึ่งที่ผ่านมาธปท.ได้รับฟังความเห็นทั้งสมาคมและสภาเอกชน ผู้ประกอบการต่าง ๆ ว่ามีความเดือดร้อนอย่างไรจนมาสู่การออกมาตรการเพิ่มเติม และหลังจากนี้จะติดตามใกล้ชิดและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ โดยจะให้สถาบันการเงินทำรายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือ เพื่อติดตามประสิทธิผล และเน้นย้ำมาตรการต้องออกมารวดเร็ว เกิดผล และเร่งเตรียมความพร้อมพนักงานที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ รวมทั้งระบบมาตรการที่จะรองรับ”
สำหรับมาตรการรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูซึ่งปัจจุบันเหลืออีก 150,000 ล้านบาทให้เอสเอ็มอีได้มีสภาพคล่องเพิ่ม ทั้งขยายวงเงินสินเชื่อลูกค้าใหม่จากไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนลูกค้าเก่าเดิมจะได้รับไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิม เป็นได้รับสินเชื่อไม่เกิน 30% ของวงเงินเดิมที่ไม่ถึง 50 ล้านบาท หรือรับสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินสามารถยื่นคำขอสินเชื่อฟื้นฟูมายัง ธปท.ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. 64
ส่วนความคืบหน้าสินเชื่อฟื้นฟูอนุมัติแล้ว 98,316 ล้านบาท จำนวน 32,025 ราย ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้เข้ามา 82 ราย วงเงิน 11,696.79 ล้านบาท
นอกจากนี้การเติมเงินให้ลูกหนี้รายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ได้ขยายเพดานวงเงินไม่เกิน 2 เท่า จากเดิม 1.5 เท่า และไม่จำกัดสถาบันการเงินให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งคงผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% ไปจนถึงสิ้นปี 65 ส่วนสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ขยายเพดานวงเงินเป็นรายละไม่เกิน 40,000 บาทจากเดิมไม่เกิน 20,000 บาท พร้อมขยายเวลาชำระคืนจาก 6 เดือนเป็น 12 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 64 จนถึงสิ้นปี 65
นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์พร้อมเร่งจัดทำทางเลือกออกโปรดักท์ โปรแกรมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามแนวทางปรับโครงสร้างหนี้แก้ปัญหาระยะยาวได้อย่างยั่งยืน สอดรับกับความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย ทั้งด้านรายได้ โครงสร้างธุรกิจ ปัญหาลูกหนี้ ซึ่งมีความแตกต่างกัน และเร่งสื่อสารพนักงานสาขา พนักงานกลุ่มลูกค้า ให้เข้าใจถึงมาตรการและเครื่องมือต่างๆ จะมีทั้งเปิดรับลูกหนี้เข้ามา และติดต่อลูกหนี้ไป ผ่านคอลเซนเตอร์, สาขา หรือช่องทางออนไลน์ทุกช่องทาง
โดยลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบต้องเตรียมการ เช่น สิ่งที่ได้รับผลกระทบ ลดสต๊อกสินค้า ลดพนักงาน ทำกระแสเงินสด ประมาณการว่า 1-2 ปีต้องการเบิกเงินทุนหมุนเวียนเท่าไร และนำทรัพย์สินเปลี่ยนมาลงทุน หรือเป็นเงินหมุนเวียนอย่างไรบ้าง เพราะต้องนำมาประกอบว่าผลกระทบหนักเบาแค่ไหน บางรายต้องปรับโครงสร้างถึง 10-15 ปีขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจ ดังนั้นความช่วยเหลือจึงต้องเหมาะสม ตรงจุด และยั่งยืน
“โปรดักท์โปรแกรม จะขึ้นอยู่กับลูกหนี้แต่ละราย สอดคล้องกับรายได้และศักยภาพชำระหนี้ และจะเดินคู่ขนานกับธุรกิจที่ต้องอยู่รอด ถ้าช่วงนี้อยู่ไม่ได้ก็ต้องช่วยมากหน่อย ต่างจากมาตรการระยะสั้นเดิมที่เลื่อนชำระไปทั้งก้อน ไม่ได้ดูกระแสเงินสด และการกลับมาธุรกิจ แต่ครั้งนี้จะดูมาตรการเข้มข้น ดูกระแสเงินสด ดูธุรกิจ ให้เหมาะสมและไม่เป็นภาระลูกหนี้เกินไป รูปแบบที่ได้รับผลกระทบ พื้นที่ ขนาด สายป่าน หรือกลุ่มอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร ค้าปลีก โรงแรม ก่อสร้าง อสังหาฯ แต่ดูทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม เพราะบางรายมีอาชีพหลักและอาชีพรองจะช่วยเหลือทั้งสิ้น”