เมื่อวันที่ 9 พ.ค. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานในการประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น สมัยสามัญครั้งที่ 1/2566 และพิธีมอบตราตั้งเจ้าอาวาสวัดไทยในญี่ปุ่น ที่วัดปากน้ำญี่ปุ่น จ.ชิบะ ประเทศญี่ปุ่น โดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวให้โอวาทว่า หากเราทั้งหลายจะมองด้วยมุมที่ว่า ประเทศญี่ปุ่นนี้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจจะอนุมานว่า ชีวิตพระธรรมทูตไทยในประเทศญี่ปุ่นนั้น เป็นไปอย่างสัปปายะ สะดวกสบาย แต่แท้ที่จริงแล้ว การปักฐาน ปักธง พระพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยในดินแดนแห่งนี้นั้น เต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคซึ่งพระธรรมทูต ได้ถือเอาบทเรียนของพระธรรมทูตรุ่นบุกเบิกในนานาประเทศ มาเป็นแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กล่าวต่อไปว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตในต่างประเทศนั้นนอกจากจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว ยังนำเอาศิลปวัฒนธรรมและภาษาไทยไปเผยแพร่ ส่งเสริมการสร้างสันติภาพ สันติธรรม พระธรรมทูตจึงเป็นผู้สร้างสันติภาพโดยแท้ ความสำเร็จในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูต ไม่ใช่ลาภสักการะหรือสิ่งอื่นใด แต่คือการปฏิบัติศาสนกิจที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ตามควรแก่การปฏิบัติ เพื่อความสุขสวัสดีแก่ตนเอง และความสันติสุขแก่ชุมชน สังคม ประเทศชาติและพุทธบริษัท โดยเฉพาะในต่างประเทศ พึงตระหนักว่า แม้ถูกกฎหมายในแต่ละประเทศ แต่ถ้าไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็ถือว่าผิด หรือถูกพระธรรมวินัย แต่ผิดกฎหมาย ก็ยังไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จะต้องให้ถูกต้องทั้งตามกฎหมายในประเทศนั้นๆ และถูกต้องตามพระธรรมวินัย ทั้งขอย้ำจริยาของพระธรรมทูตสายต่างประเทศ พึงตระหนักในสมณภาวะ คือ การใช้สติและปัญญาให้สมดุลกัน ต้องรู้ตัวว่า เรามีภาวะ ฐานะ หน้าที่อะไร การวางตน การปฏิบัติหน้าที่ผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือ มีวิสัยทัศน์มีภาวะผู้นำ เสียสละ รับฟัง ให้โอกาสผู้น้อย ผู้ปฏิบัติ ด้วยความเคารพและซื่อสัตย์ สุจริต อุดมด้วยสามัคคีธรรม บนพื้นฐานแห่งสาราณียธรรม ย่อมเกิดประโยชน์ ไม่มีโทษให้เกิดความบาดหมางกัน ขอให้ตระหนักในฐาน หรือวัดต้นสังกัด อย่าลืมต้นสังกัดเดิมในประเทศไทย จะปฏิบัติศาสนกิจใด พึงยึดตามรอยธรรมของบูรพาจารย์และปรึกษาพระมหาเถระต้นสังกัดด้วย

พระราชรัชวิเทศ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำญี่ปุ่น ในฐานะประธานสมัชชาสงฆ์ในญี่ปุ่น กล่าวว่า ปัจจุบันมีวัดไทยในญี่ปุ่นจำนวน 19 วัด และศูนย์วิปัสสนา (ที่พักสงฆ์) จำนวน 3 แห่ง โดยสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่นได้ทำงานร่วมกับชาวไทย และคณะสงฆ์ญี่ปุ่น มาอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงโตเกียว กล่าวว่า การทำงานของสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น เป็นเสมือนองค์กรการต่างประเทศของไทยที่นำหลักการพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทยไปสู่นานาชาติ โดยปัจจุบันมีคนไทยที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นกว่า 60,000 คน มีนักท่องเที่ยวไทยมาเที่ยวญี่ปุ่นปีละ 1 ล้านคน การที่พระธรรมทูตไทยในญี่ปุ่นได้จัดตั้งสมัชชาสงฆ์ไทยในญี่ปุ่น จึงเป็นเรื่องที่ดีของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและความสัมพันธ์อันดีของไทยและญี่ปุ่น

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ยังได้เจริญศาสนสัมพันธ์กับคณะสงฆ์ญี่ปุ่น ที่วัดนิตไตจิ เมืองนาโงย่า ประเทศญี่ปุ่น โดยมีท่านมูราคามิ เอนริว ประธานกรรมการบริหารองค์กรศาสนาวัดนิตไตจิ ถวายการต้อนรับ ทั้งนี้ วัดนิตไตจิสร้างขึ้นในพ.ศ. 2447 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นศูนย์รวมของพระพุทธศาสนาทุกนิกายในญี่ปุ่น โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปโบราณ และพระราชทรัพย์เพื่อสมทบทุนสร้างวัดนี้ ต่อมา พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ เยือนวัดนิตไตจิ ได้สักการะบรมสารีริกธาตุ และทรงปลูกต้นไม้เป็นบุญญานุสรณ์ บริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในพ.ศ. 2530 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 5 ต่อมา พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดพระราชทานถวายพระพุทธศากยมุนี ประดิษฐานเป็นพระประธานภายในอุโบสถ พร้อมทั้งพระราชทานป้ายจารึกพระนาม “พระพุทธศากยมุนี” โดยมีพระปรมาภิไธยย่อ จปร. และ ภปร. บนป้ายจารึก โดยในวันที่ 23 ต.ค.ของทุกปี จะมีการจัดงานวันปิยมหาราช เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และประกาศพระเกียรติคุณด้วย