วันนี้​ (2 ก.ย.) นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดเผยว่า สดช.ได้จัดทำ โครงการศึกษาวิจัย ไทยแลนด์ ดิจิทัล เอาต์ลุค​ (Thailand Digital Outlook) ระยะที่ 3 โดยดําเนินการจัดเก็บข้อมูลสํารวจและวิเคราะห์ ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจดิจิทัลตามแนวทาง Measuring the Digital Transformation และ Digital Economy Outlook ของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เพื่อนำผลศึกษาวิจัยมาเป็นกรอบในการพัฒนา ด้านดิจิทัลของไทย ให้มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ  รวมถึงให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนสามารถนําผล การศึกษามาประเมินเพื่อกําหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

“สดช.ได้ดำเนินโครงการมาเป็นปีที่ 3 โดยในปีแรก พ.ศ. 2561 หรือในระยะที่ 1 ดำเนินการทดสอบนำร่องใน 3 จังหวัด คือ ราชบุรี  สุพรรณบุรี และ กาญจนบุรี มาในระยะที่ 2 ปี 2562 มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น จนล่าสุดในระยะที่ 3  ทำการสำรวจใน 77 จังหวัด และเพิ่มตัวชี้วัดมากถึง 57 ตัวชี้วัด โดยมีจํานวนกลุ่มตัวอย่างเป็น 39,145 ตัวอย่าง ครอบคลุม บริษัทเอกชน ภาครัฐและหน่วยงานบริการปฐมภูมิภาครัฐ เช่น โรงเรียน และ รพ.สต. ฯลฯ ซึ่งครอบคลุมหน่วยงานเป้าหมายตามยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ตามแผนแม่บทหลักในการ พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)” 

นางวรรณพร กล่าวต่อว่า สำหรับผลสำรวจที่สำคัญ พบว่า ประชากรทั้งประเทศ มีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต เฉลี่ยจํานวน 6-10ชั่วโมงต่อวัน โดยใช้ในการทํางานและความบังเทิง รวมถึงใช้ในการซื้อขายออนไลน์ โดยพบว่า มีการใช้เพื่อการทํางาน เช่น ประชุมออนไลน์ หรือ เวิร์กฟรอมโฮม​ (Work from home) คิดเป็นสัดส่วน 75.2% ใช้สําหรับเรียนออนไลน์ 71.1%  ซื้อสินค้าออนไลน์ 67.4% การติดต่อสื่อสารสนทนา 65.1% และเพื่อทําธุรกรรมด้านการเงินออนไลน์  54.7%

นอกจากนี้ยังพบว่าธุรกิจที่มีการใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น โดยธุรกิจการเกษตร เพิ่มขึ้น 54.6% อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 27.4% ขนส่งและโลจสิติกส์เพิ่มขึ้น 27.9% ขณะที่ธุรกิจที่มีการใช้ช่องทางออนไลน์ลดลง คือ การท่องเที่ยวและสันทนาการลดลง 76.4% แฟชั่น ลดลง 44.8% วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักรลดลง  36.8% ส่วน ธุรกิจที่มีการเวิร์กฟรอมโฮม​ (WFH) มากขึ้น คือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพิ่มขึ้น 48% อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 42% เงินทุนและหลักทรัพย์ 32.3%

วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา

“คนไทยมีการยอมรับและใช้ดิจิทัลมากขึ้น ปัจจัยส่วนหนึ่งอาจมาจากช่วงโควิด-19 ที่มีการ WFH  และมีมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้คนไทยมีการซื้อสินค้าบริการออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 76.6% และไทยมีมูลค่าการชําระเงินผ่าน โมบาย แบงก์กิ้ง สูงที่สุดของโลก ขณะที่ผู้ประกอบการเอกชนมีการใช้งานเทคโนโลยียุคใหม่ ทั้งคลาวด์ 70.3% และการวิเคราะห์ข้อมูลดาต้า 61.5% และเอไอ 41% แต่ยังมีประเด็นที่สําคัญที่พบคือ ประเทศไทยยังต้องเร่งการพัฒนาและสร้างทักษะ แรงงานด้านดิจิทัล ซึ่งมีปริมาณไม่พอกับความ ต้องการที่ขยายตัวเร็ว รวมทั้งการเปิดตลาดอีคอมเมิร์ซไปต่างประเทศ เพราะตอนนี้ ส่วนใหญ่ซื้อ-ขายเพียงในประเทศเท่านั้น ๆ นอกจากนี้ในเรื่องนวัตกรรม ประเทศไทยลงทุนในด้านนี้ไปมากแต่ยังไม่มีการนำมาใช้ต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากเท่าที่ควร จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันส่งเสริมในเรื่องนี้” นางวรรณพร กล่าว

นางวรรณพร กล่าวต่อว่า สำหรับผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปใช้ในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ ใน 8 มิติหลัก ได้แก่ 1. ด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี ดิจิทัล 2. ด้านการใช้งาน 3. ด้านนวัตกรรม 4. ด้าน อาชีพและแรงงานดิจิทัล 5. ด้านความเชื่อมั่นและ ความปลอดภัยดิจิทัล 6. ด้านการค้าและอุตสาหกรรมดิจิทัล 7. ด้านผลจากดิจิทัลด้านสังคม และ 8.การเติบโตและคุณภาพชีวิต และนำไปสร้างตัวชี้วัดในการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทย รวมถึงนําไปพัฒนาเพื่อต่อยอดเป็นกรอบการประเมินด้านการพัฒนาดิจิทัลฯ ที่เป็นมาตรฐานของประเทศไทยด้วย 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 20 ก.ย.64  นี้จะจัดให้มีการลงนาม เอ็มโอยู​ (MOU) เรื่อง “การบูรณาการด้านการแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการศึกษา Thailand Digital Outlook ของประเทศไทย” ระหว่างหน่วยงาน ทั้ง 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย สดช., สสช., สพธอ. (เอ็ตด้า), สศด. (ดีป้า), กสทช., สอวช., และ สพร. (ดีจีเอ) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ทุกฝ่ายตามที่ได้ร่วมลงนามใน MOU ได้มีการบริหารจัดการและการบูรณาการข้อมูลภาครัฐที่มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน รวมถึงเป็นการยกระดับการบริหารงานภาครัฐให้เป็นระบบดิจิทัล ที่มีระบบการทํางานและข้อมูลเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ โดยนําผลการศึกษา Thailand Digital Outlook ของประเทศไทย รวมถึงข้อมูลและ ชุดข้อมูลในการศึกษานี้ ไปใช้ในการวางยุทธศาสตร์ องค์กรของแต่ละหน่วยงานด้วย.