น.ส.พิชามน  จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) เปิดเผยว่า เคทีซีเน้นรักษาคุณภาพลูกหนี้ เพราะโควิด-19 ระบาดลูกหนี้ได้รับผลกระทบหนัก จึงปรับเกณฑ์การอนุมัติให้รัดกุมขึ้นเข้มงวด ทำให้ครึ่งปีแรกยอดลูกหนี้ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 29,480 ล้านบาท ลดลง 2.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 802,971 บัญชี โดยมียอดอนุมัติสินเชื่อลดลง 30% ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 3% คาดว่าสิ้นปีนี้จะพยายามรักษาไม่ให้เกินระดับนี้ เชื่อว่าการคลายล็อกดาวน์จะทำให้บรรยากาศเริ่มดีและกำลังซื้อประชาชนเริ่มกลับมาได้

สำหรับกลยุทธ์ครึ่งปีหลัง สินเชื่อบุคคลไม่มีหลักประกัน เน้นช่วยเหลือลูกหนี้จากโควิด, ทำโครงการเคลียร์หนี้เกลี้ยงต่อเนื่อง หากใช้บัตรกดเงินและมีวินัยในการชำระคืนตรงเวลา จะได้รับสิทธิเคลียร์หนี้เกลี้ยง 100% และเคลียร์หนี้ 10% ตลอดทั้งปี, พัฒนาดิจิทัลใช้โอนเงินออนไลน์ผ่านแอพเคทีซี โมบายตลอด 24 ชั่วโมง และขยายฐานลูกค้าเพิ่มเติม ผ่านสินเชื่อใหม่เป็นสินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมบัตรกดเงิน เคทีซี พี่เบิ้ม ที่สามารถรูด โอน กดเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม ซึ่งเป็นครั้งแรกในไทย เพื่อให้คนไทยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการต่อยอดใช้จ่ายสิ่งจำเป็น

น.ส.เรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสินเชื่อ เคทีซี พี่เบิ้ม กล่าวว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมสินเชื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในช่วงครึ่งปีแรก ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมียอดลูกหนี้ 158,493 ล้านบาท โดยนอนแบงก์มีสัดส่วนทางการตลาด 82% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด และธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์มียอดลูกหนี้ 1.17 ล้านล้านบาท โดยมีธนาคารพาณิชย์ถือครองตลาดเป็นหลัก 70% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด ส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนของพี่เบิ้มในปี 64 ยังคงไว้ที่ 1,000 ล้านบาท

ส่วนกลยุทธ์ของธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะขยายพอร์ตสินเชื่อให้หลากหลายครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากขึ้น จากการมีกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง ทำให้สามารถนำเสนอสินเชื่อทะเบียนรถแบบโอนเล่ม การทำรีไฟแนนซ์สินเชื่อทะเบียนรถ และการทำสินเชื่อรถยนต์มือสอง ซึ่งจะเริ่มในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้, การเซ็นสัญญาแบบดิจิทัล ไม่ต้องใช้เอกสารและเซ็นสัญญาบนกระดาษอีกต่อไป, ขยายพื้นที่ให้บริการไปสู่สาขาธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ และให้คนได้รู้จักเคทีซี พี่เบิ้ม มากขึ้น เพื่อให้คนเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น