เนื่องจากท่านเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ข้าราชการ วงการธุรกิจ และภาคประชาสังคม อีกทั้งยังเป็นบุคคลสำคัญที่ผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดตั้งสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม CSRI จนต่อมาก่อให้เกิด CSR Club ซึ่งภายหลังความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรได้ขยายเครือข่ายออกไปกว้างขวาง และแม้อาจารย์ไพบูลย์จะจากพวกเราไป 10 ปีแล้ว แต่ลูกศิษย์ลูกหาก็ยังช่วยกันจัดงาน “ปาฐกถา…ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม” ขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และปีนี้ก็เป็นปีที่ 9 ซึ่งจัดขึ้นที่ ตลท. โดยเชิญผู้นำทางความคิดมาตั้งวงคุยเรื่องนโยบายสาธารณะในด้านต่างๆ ว่า…ประเทศไทยควรไปทางไหน? ซึ่งแต่ละท่านได้นำเสนอไว้น่าสนใจ ดังนี้…

เริ่มจาก ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลท. ระบุไว้ในหัวข้อ “นโยบายของจริง ประชาชนร่วมได้จริง สังคมได้ประโยชน์จริง” ว่า งานนี้เป็นงานปาฐกถาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันของไทยที่จะเลือกตั้งในเดือน พ.ค. โดยสามารถใช้เป็นแนวทางให้พรรคการเมืองและนักการเมืองจัดทำนโยบายสาธารณะที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อสังคม รวมถึงเป็นข้อมูลให้ประชาชนได้นำไปพิจารณาตัดสินใจ ตลอดจนเป็นแนวทางให้กับกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่กำลังเสนอนโยบายให้กับพรรคการเมืองด้วย ในขณะที่ ผศ.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวในเวทีว่า หลักธรรมาภิบาลในระดับสากลมีหลายด้าน เช่น การมีความรับผิดชอบ ความโปร่งใส ความเท่าเทียม การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งทั้งหมดคือ นวัตกรรมการปกครองที่เป็นเทคโนโลยีทางสังคมประเภทหนึ่ง โดยในระดับสากลนั้น หลักธรรมาภิบาลที่ดีคือ คอร์รัปชั่นที่ลดลง ซึ่งหากมองย้อนหลังไป 20 ปี คะแนนดัชนีชี้วัดคอร์รัปชั่นของไทยคงที่ อยู่ที่ 30 คะแนน แต่การจัดอันดับของไทยกลับแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งถ้าต้องการให้ตัวชี้วัดคอร์รัปชั่นดีขึ้น ไทยจะต้องมีระบบที่ชัดเจนและโปร่งใส เพื่อให้มีหลักธรรมาภิบาลที่เป็นรูปธรรมและเป็นระบบมากขึ้น โดยเสนอแนะให้แก้ปัญหาด้วยการมองที่ปลายทางใน 4 เรื่องหลัก คือ 1.การจ่ายสินบน 2.การยักยอกงบประมาณ 3.การใช้อำนาจบิดเบือน 4.การใช้ทรัพย์สินราชการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

นอกจากนี้ ดวงดาว ศรียากูล นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รองผู้อำนวยการกลุ่มปฐมภูมิ รพ.เพชรบูรณ์ ก็ได้ระบุในวงเสวนาว่า นโยบายด้านสาธารณสุขขณะนี้ มีทั้งประโยชน์และสร้างความเสี่ยง เพราะเยาวชนยังไม่มีความเข้มแข็งมากพอที่จะรับบางอย่างที่เปิดโดยไม่ได้ควบคุม เช่น กัญชาเสรี บุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งต้องย้อนมองว่า วันนี้สังคมไทยติดอาวุธหรือสร้างความเข้มแข็งพอหรือยังกับการออกนโยบายสุ่มเสี่ยงออกมา ดังนั้น นโยบายสาธารณสุขต้องไม่โลกสวย แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ส่วน จริญญา แจ่มแจ้ง รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายสร้างประโยชน์และคุณค่าทางสังคม บริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ได้กล่าวว่า การผลักดันนโยบายด้านการศึกษาที่ดี จะต้องได้รับการร่วมมือจากสังคมที่สนใจด้านนี้ มาร่วมทำงานในเรื่องเดียวกัน เพื่อพัฒนาการศึกษา และสร้างสังคมไทยให้ยั่งยืน รวมถึงเพื่อช่วยให้เกิดการปลดล็อก 3 ด้าน คือ 1.การเข้าถึงการศึกษา 2.คุณภาพการศึกษา และ 3.ทักษะชีวิต ซึ่งถ้าปลดล็อกได้จะลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และนำไปสู่นโยบายที่ดีในอนาคต

ด้าน กอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านมหภาค การเงิน การธนาคาร และตลาดทุน กล่าวว่า ปัญหาสังคมไทยปัจจุบันมาจากระบบทุนนิยมและโครงสร้างที่ถูกสร้างขึ้นมา ในการทำให้สิ่งต่างๆ เกิดความอ่อนแอต่อเนื่องและสะสม รวมทั้งเกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดที่มองว่า จะต้องพัฒนาจากระดับบนสู่ระดับล่าง จากอุตสาหกรรมสู่เกษตรกรรม จากเมืองสู่ชนบท จากเจ้าสัวไปสู่ฐานราก ที่ในความเป็นจริงแล้วไม่สามารถไปได้ถึง และถึงเฉพาะแต่ในระดับข้างบนอย่างเดียว อีกทั้งยังมีกลไกระดับย่อยที่คอยซ้ำเติมให้เกิดปัญหาต่างๆ แย่ลงเรื่อยๆ เช่น หนี้นอกระบบในชุมชน หรือการทำสิ่งเดิมๆ ในยุคที่เทคโนโลยีหมุนไปเร็ว ที่ส่งผลทำให้สถานการณ์ยิ่งลำบากลงเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม “ทางออก” ของปัญหาทั้งหมดนี้ก็คือ ต้องทำให้ประชาชนฐานรากทุกชุมชนอยู่อย่างเข้มแข็งและเป็นสุข เช่น การส่งเสริมให้เกิดผู้นำที่ดี เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับสังคม หรือการสร้างแนวคิดใหม่ๆ ที่ทำให้สังคมมองว่า นโยบายการแจกเงินไม่ใช่คำตอบ แต่ต้องเป็นนโยบายที่ช่วยให้ชุมชนเข้มแข็ง โดยสิ่งที่สำคัญคือ คิดแล้วต้องทำให้เกิดขึ้นได้จริง หรือสามารถนำแนวคิดไปใช้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริงได้ ซึ่งถ้าหากว่า…ทำได้ประเทศไทยจะเปลี่ยนไป.