เรียกได้ว่ากำลังเป็นประเด็นร้อนที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์สนั่น ของแบบเรียนหนังสือ “ภาษาพาที” ที่มีเนื้อหาพูดถึงการกินไข่ต้มครึ่งซีก และเหยาะน้ำปลาพร้อมคลุกน้ำผัดผักบุ้ง ที่บรรยายเพิ่มว่า ตัวละครในหนังสือมีความสุข และการกระทำแบบนี้ถือเป็นการพอเพียงและเห็นคุณค่าของชีวิต งานนี้ทำเอาสังคมเกิดการตั้งคำถามถึงโภชนาการของเด็ก ตามที่มีการนำเสนอข่าวไปแล้วนั้น
- ครูยังอึ้ง!หนังสือป.5สอนเด็กจำนนโชคชะตา ลั่นถ้าเขายังอดอยากอย่ายัดเยียดคำว่าพอเพียง
- “กุมารแพทย์” กังวลวิสัยทัศน์แบบเรียนป.5 ให้ “กินข้าวคลุกน้ำปลา” มองแค่ “อิ่มท้องสุขใจ”
- สยบดราม่า! สพฐ. แจงบทเรียน ‘ไข่ต้มพอเพียง’ เป็นวรรณกรรมคิดวิเคราะห์ถึงสุขแท้จริง
ล่าสุด มีชาวเน็ตรายหนึ่งได้ขุดประเด็นร้อนขึ้นมาถกเถียงใหม่อีกครั้ง หลังจากได้เข้าไปอ่านหนังสือ “ภาษาพาที” ของระดับชั้น ป.5 โดยบทเรียนที่ถูกขุดประเด็นขึ้นมาใหม่มาคือ “บทที่ 2 คนละไม้ คนละมือ” โดยในหนังสือสอนว่า
“ผมมีเงินติดกระเป๋ามาจำนวนหนึ่ง แม้ไม่มากนัก แต่ผมยินดีบริจาคช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องร่วมโลก ผมหยอดเงินใส่ทุกกล่องจนเงินหมด การช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างนี้ เป็นวิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน นั่นก็คือการมีจิตสาธารณะนั่นเอง ผู้คนในชาติก็อยู่อย่างมีความสุข เป็นการกระทำที่มาจากจิตใจที่งดงามของตนเอง โดยปราศจากการบังคับ เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง”
งานนี้ทำเอาด้านชาวเน็ตแห่ติการออกแบบหนังสือเรียน พร้อมพากันมองว่า ตำราเรียนมีการสอนเด็กไปในทางที่ผิด อาทิ
“ตำราไรเนี่ยสอนให้เด็กคิดผิดเเบบมีการแบ่งชนชั้น คนที่บริจาคคือคนมีน้ำใจ คนที่ไม่บริจาคคือคนไม่มีน้ำใจอ่อ”
“อยากรู้ชื่อคนแต่งหนังสือ”
“อย่างเรื่องการบริจาค มีเงินอยู่น้อยแต่ต้องบริจาคหมดกระเป๋า เป็นการสอนให้เด็กมองในทางที่ผิดหรือไม่ การสอนลักษณะนี้เป็นการชี้ทางให้เด็กเข้าใจผิดว่าคนที่บริจาคเงินทุกคนคือผู้มีน้ำใจ ถ้างั้นคนไม่บริจาคคือคนไร้น้ำใจเหรอ การแสดงน้ำใจต่อกันมีหลายวิธี ไม่ใช่แค่บริจาคเงินหรือสิ่งของหรือเปล่า”
“ไม่แปลกใจทำไมคนรวยถึงส่งลูกเรียนต่างประเทศ”
ไม่เพียงแค่นี้ยังมีการขุดต่อใน บทที่ 6 จากคลองสู่ห้องแอร์ โดยในหนังสือสอนว่า “ก่อนกลับบ้านน้าแป๊ดพาหลานขึ้นไปศูนย์อาหาร น้าแป๊ดกินบะหมี่แห้ง แต่ใบพลูกินข้าวมันไก่ น้ำจิ้มข้าวมันไก่ค่อนข้างเผ็ด ใบพลูจึงไปขอน้ำปลาจากร้านข้าวแกง
แม่ค้า : อะไรกัน ไม่ได้ซื้อข้าวแกงร้านนี้สักหน่อย จะมาขอน้ำปลา คนขายต่อว่าก่อนจะอนุญาต เอ้า! อยากได้ก็ตักไป
ใบพลูคอหด เดินถือจานข้าวมันไก่กลับโดยไม่ได้เติมน้ำปลา ไม่เป็นไร เขาไม่เต็มใจให้ก็อย่าไปเอาของเขาดีกว่า น่าเสียดาย น่าเสียดายจริงๆ ทำอย่างไรขนบธรรมเนียมประเพณีดีๆ ของไทยที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน จึงจะอยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคนและในทุกที่”
ส่วนด้านความเห็นเรื่องใบพลูกินข้าวมันไก่แล้วเผ็ด แต่ไปขอน้ำปลาร้านข้าวแกง ชาวเน็ตหลายคนยังคงเห็นต่าง โดยมองว่า การที่หนังสือเขียนว่าใบพลูเสียดายและตั้งคำถามกลับว่า ทำอย่างไรคนไทยถึงจะมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทุกที่ ซึ่งพากันติว่า เป็นการสอนและปลูกฝังผู้เรียนในทางที่ผิด จริงๆ มีวิธีแก้หลายทาง เช่น ตักน้ำจิ้มกินน้อยๆ หรือไปขอน้ำซุปเพิ่ม เพื่อมานำกินใช้ลดความเผ็ดลงได้ หรือขอซีอิ๊วหวานทานแทนน้ำจิ้มเดิม น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าเลือกเดินไปขอร้านข้าวแกง
อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังคงถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง พร้อมขอให้ทางกระทรวงศึกษาฯ ตรวจสอบและจัดการระบบการสอนของเด็กไทยใหม่ให้ดีกว่านี้ โดยพากันหวั่นใจว่า ถ้าสอนผิดๆ และปล่อยไว้นาน เด็กไทยของเราจะย่ำอยู่กับที่ และมีความคิดไปในทางที่ผิด และล้าหลังตามประเทศอื่นที่เขาพัฒนาแล้วไม่ทัน….