เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีผู้สงสัยว่าเหตุใดนักศึกษาระดับปริญญาตรีในสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่ง จึงไม่ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ปกครอง นักเรียนและนักศึกษา ในด้านค่าใช้จ่ายทางการศึกษา จำนวน 2,000 บาทต่อนักเรียน 1 คนนั้น ตนขอชี้แจงว่าในการจัดทำตัวเลขข้อมูลผู้ที่จะได้รับการเยียวยาเพื่อเสนอให้กับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้พิจารณา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดทำข้อมูลตัวเลขนักเรียน นักศึกษาในสังกัดทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จำนวน 662,389 คน ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จำนวน 356,757 คน และระดับปริญญาตรี จำนวน 10,538 คน รวมทุกระดับจำนวน 1,029,684 คน ซึ่งในการประชุมร่วมกับ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ และนายสุภัทร จำปาทอง ปลัด ศธ. เพื่อเคาะตัวเลขก่อนเสนอสภาพัฒน์ น.ส.ตรีนุช และนายสุภัทร ก็ยืนยันตัวเลขตามที่ สอศ.เสนอ แต่เมื่อสภาพัฒน์พิจารณาและส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากลับตัดกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีของ สอศ.ออกไป  

เลขาธิการ กอศ. กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ น.ส.ตรีนุช ทราบเรื่องดังกล่าวก็ได้นิ่งนอนใจ โดยได้มอบหมายให้ปลัด ศธ.ประสานไปยังสภาพัฒน์เพื่อทบทวนและขยายเพดานการเยียวยาให้ถึงกลุ่มนักศึกษาปริญญาตรี และตามขั้นตอนเมื่อสภาพัฒน์พิจารณาแล้วก็ต้องเสนอให้ ครม.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ซึ่งหากผ่านมติ ครม.แล้ว สอศ.จะเร่งดำเนินการจัดโอนงบประมาณให้กับสถาบันการอาชีวศึกษาเพื่อจ่ายเยียวยาตามมาตรการของ ศธ.ได้ทันที เพราะขณะนี้ สอศ.ได้เตรียมงบประมาณเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว 

ดร.สุเทพ กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่มีการพูดถึงว่านักศึกษาระดับปริญญาตรีของ สอศ.ทำไมจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เหมือนนิสิต นักศึกษา สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ได้รับส่วนลดเป็นลักษณะร่วมจ่าย ระหว่างรัฐและสถาบันอุดมศึกษาในอัตราส่วน 60:40 โดยค่าเล่าเรียน/ค่าธรรมเนียมการศึกษาส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดร้อยละ 50 นั้น มาตรการช่วยเหลือของ อว.และ ศธ.มีหลักคิดคนละกรอบแนวทาง ซึ่ง สอศ.ได้สอบถามไปยังสถาบันการอาชีวศึกษาทั้ง 23 แห่งแล้วว่าหากจะดำเนินการตามกรอบของ อว.สามารถทำได้หรือไม่ โดยได้รับคำตอบจากทุกสถาบันว่าไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีงบประมาณที่จะนำไปร่วมจ่าย 40% ประกอบกับทาง อว.เองก็ไม่ได้ดึงปริญญาตรีของ สอศ.เข้าไปร่วมในมาตรการเยียวยาดังกล่าวด้วย ดังนั้น สอศ.จึงเสนอเยียวยานักศึกษาระดับปริญญาตรีตามกรอบแนวทางที่ ศธ.กำหนด ซึ่งทั้ง 23 สถาบันการอาชีวศึกษาต่างก็เห็นด้วย และทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะ สอศ.ได้หารือและแจ้งความคืบหน้าให้ทราบตลอด เรื่องนี้ ศธ.โดย สอศ.ไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะหาทางช่วยเหลือแน่นอน.