คาร์บอนเครดิตจึงเป็นกลไกสำคัญในการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net zero โดยได้มีบทวิเคราะห์จาก “ณัฐนันท์ อภินันท์วัฒนกูล” นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้บอกเล่าถึงสถานการณ์และแนวโน้มดังกล่าวในไทยไว้อย่างน่าสนใจ

ปัจจุบันตลาดคาร์บอนทั่วโลกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ตลาดคาร์บอนบังคับ คือ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีผลผูกพันทางกฎหมาย หรือสอดคล้องกับความมุ่งมั่นระหว่างประเทศ หากไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะถูกลงโทษ หรือหากปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือไม่ก็ได้ขึ้นอยู่กับการบัญญัติกฎหมาย จึงมีความเข้มงวดในเรื่องการบังคับใช้อย่างมาก

2.ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ คือ ตลาดที่สร้างขึ้นโดยไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ตลาดมักจะจัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือโดยสมัครใจในภาคเอกชนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้เข้าร่วมในตลาดอาจมีเป้าหมายของการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยสมัครใจซึ่งมีเป้าหมายที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และดำเนินการซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิตและค่าเผื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีหลายมาตรฐานของคาร์บอนในตลาดนี้

ณัฐนันท์ อภินันท์วัฒนกูล นักวิเคราะห์ EIC ธนาคารไทยพาณิชย์

สำหรับตลาดคาร์บอนในไทยจะเป็นแบบภาคสมัครใจ ซึ่งความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตที่มีลักษณะเป็นภาคสมัครใจ ไม่ใช่ทางเลือกแรกที่ผู้ซื้อใช้ การชดเชยคาร์บอนของผู้ประกอบการไทยเกิดขึ้นภายหลังจากความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมทางธุรกิจก่อน เช่น การประหยัดพลังงาน การใช้วัสดุ หรือวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทดแทน หรือการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดก่อน

ขณะที่ในภาคธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อย่างภาคการบิน แม้ว่าจะต้องการคาร์บอนเครดิตชดเชยจำนวนมาก แต่เนื่องจากยังไม่มีกฎระเบียบข้อบังคับ สายการบินบางรายจึงนำเสนอการซื้อคาร์บอนเครดิตให้เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคที่ต้องการจะลดผล
กระทบจากการเดินทางของตนเองเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าความต้องการใช้คาร์บอนเครดิตจะต้องมีมากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยจากมาตรการดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอนเนื่องจากคาร์บอนเครดิตในภาคสมัครใจไม่สามารถใช้ทดแทน CBAM Certificate ที่ผู้นำเข้าในสหภาพยุโรป (อียู) ต้องซื้อได้ เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่ไม่สอดคล้องกันและสามารถเทียบเคียงกันได้

โอกาสที่ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยจะพัฒนาต่อไปได้ดีหรือไม่? ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของการวัดคาร์บอนเครดิต และการมุ่งมั่นสู่เป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นสิ่งสำคัญ การยกระดับมาตรฐานคาร์บอนของไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากลจนเกิดการยอมรับ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความสำเร็จในตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยในอนาคต.