“ขยะ” ที่มักพบมากที่สุดช่วงสงกรานต์นี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกล่องโฟมบรรจุอาหาร ขวดนํ้า เศษพลาสติก ขวดแก้ว เศษอาหาร ยิ่งบริเวณที่มีการเล่นนํ้าสงกรานต์ด้วยแล้วก็จะเต็มไปด้วยอุปกรณ์สำหรับเล่นนํ้าต่างๆ ทั้งถุงแป้ง ถังนํ้า และซองกันนํ้า ที่ล้วนเกิดจากการขนกันไป แต่ตอนกลับก็กลับออกมามือเปล่า

ที่ผ่านมาข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร รายงานว่า ในช่วงสงกรานต์ของทุกปี หลายเขตจะมีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นจากช่วงเวลาปกติอย่างน้อย 10-20% โดยเฉพาะเขตพื้นที่เปิดถนนให้นักท่องเที่ยวเล่นสงกรานต์ อย่างกรณีถนนข้าวสาร เขตพระนคร พบว่าปกติจะมีขยะเฉลี่ย 190 ตันต่อวัน แต่วันสงกรานต์กลับมีปริมาณขยะเพิ่มอีก 50 ตันต่อวัน หรือรวมกันมากกว่า 240 ตันต่อวัน

ขณะที่เขตสีลม บางรัก ตามปกติจะมีขยะอยู่ราว 150 ตันต่อวัน แต่ในช่วงจัดงานเทศกาลสงกรานต์ที่สีลมติดต่อกัน 3 วันทำให้มีขยะเพิ่มเข้ามาอีกอย่างน้อย 30 ตันต่อวัน เรียกว่าในภาพรวม กทม. จะมีขยะจากสงกรานต์ในทุก ๆ เขต เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยราว 10,000 ตันเลยทีเดียว

ซึ่งขยะหลังสงกรานต์ที่มาจากความมักง่ายของผู้ที่รักสนุก แต่ไม่มีความรับผิดชอบเหล่านี้สุดท้ายผู้ที่รับภาระมาจัดการก็เจ้าหน้าที่ กทม. ที่ต้องเพิ่มกำลังการจัดเก็บให้ เพื่อทำให้ถนนให้กลับมาสะอาดตาได้เหมือนเดิม ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นคนก่อขึ้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติพบว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการนำพลาสติกและโฟมมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ จำนวนมาก โดยมีการบริโภคถุงพลาสติกหูหิ้วประมาณ 45,000 ล้านใบต่อปี โฟมบรรจุอาหาร 6,758 ล้านใบต่อปี และแก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งราว 9,750 ล้านใบต่อปี ซึ่งพลาสติกและโฟมเหล่านี้ล้วนเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยาก

“มีใครรู้กันหรือไม่? ว่าการย่อยสลายของบรรจุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ มีระยะเวลาย่อยสลายแตกต่างกัน ถุงขวดพลาสติกใช้ระยะเวลาย่อยสลายนานถึง 450 ปี แต่สำหรับโฟมขวดแก้วนั้นไม่ย่อยสลาย ในขณะที่บรรจุภัณฑ์จากวัสดุทางธรรมชาติใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายเพียงแค่ 45 วันเท่านั้น”

นอกจากนี้ในแต่ละปี ประเทศไทยมีต้นทุนในการกำจัดขยะมหาศาล แต่มีเพียงกว่า 30% เท่านั้น ที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง และเพื่อช่วยลดจำนวนขยะหรือภาระของผู้ที่จะนำขยะไปกำจัดนั้น หนทางที่ดีที่สุดก็คือการตระหนักรู้ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่ามักง่าย ทิ้งของเรี่ยราด และหากเป็นไปได้ควรแยกทิ้งขยะตามประเภท เพื่อสะดวกแก่การเก็บและนำกลับไปรีไซเคิล หรือ การกำจัดทิ้ง ส่วนบรรดาพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายหากหันมาใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติได้ก็ควรใช้กันเถอะ

ไม่เช่นนั้นเมื่อขยะพลาสติกและโฟมไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องภายหลังการบริโภค ก็สามารถปนเปื้อนและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางบกและทางทะเล รวมถึงชีวิตสัตว์ทะเล ที่ปัจจุบันเศษพลาสติกเป็นสาเหตุหลักสำคัญประการหนึ่งที่คร่าชีวิตสัตว์ทะเลหายากอย่างเต่าและวาฬ โดยในแต่ละปีมีสัตว์ทะเลหายาก ต้องตายจากการกินเศษพลาสติกไปปีละหลายร้อยตัวกันเลยทีเดียว.