การเปิดตัวอย่างเป็นทางการของพรรคการเมืองที่เข้าสู่สนามเลือกตั้ง 2566 เริ่มต้นแล้ว โดยมีพรรคการเมืองเสนอตัวในครั้งนี้ห้าสิบกว่าพรรค และผมคาดว่าจะได้เห็นนโยบายใหม่ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแบบบูรณาการที่ไม่ได้ทำเป็นส่วนๆและผมยังคาดหวังว่า ในช่วงการหาเสียงผมจะได้เห็นวิสัยทัศน์ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะได้วาดภาพประเทศไทยที่ยั่งยืนในอนาคตให้เราเข้าใจ และมีการนำเสนอนวัตกรรม รวมถึงนโยบายเรื่องความยั่งยืนที่ทำให้เรารู้สึกว้าว มากกว่าจะเห็นการแข่งขันกันด้วยการแจกเงินในรูปแบบต่างๆ แบบประชานิยม

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผมเฝ้ามอนิเตอร์ข่าวสำนักต่างๆ และส่องดูตามเวทีดีเบตที่เริ่มกันแล้วในหลายเวที สิ่งที่ผมสังเกตเห็น ก็คือ แทบไม่มีผู้นำพรรคการเมืองใดเลยที่เอ่ยถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ต่างกับผู้นำพรรคการเมืองในประเทศที่เจริญแล้ว ที่นโยบายความยั่งยืนคือ จุดขายที่โดดเด่น และเรียกคะแนนนิยมจากประชาชน จนสามารถทำให้ชนะการเลือกตั้งได้ ยกตัวอย่างเช่น นายกรัฐมนตรี จัสติน ทรูโด ของแคนนาดา ที่มีนโยบายการจัดตั้งธนาคารโครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติ เพื่อเป็นแหล่งทุนสนับสนุนโครงการความยั่งยืน เพื่อผลักดันเป้าหมายต่างๆ เกี่ยวกับ SDG

อาทิ โครงการเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก โครงการขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว, นายกรัฐมนตรี เจซินดา อาเดิน ของนิวซีแลนด์ ที่ประกาศว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG เป็นงานสำคัญสูงสุดของรัฐบาล และระบุว่า ข้าราชการทุกหน่วยงานต้องรู้จริงและต้องมีแผนงานแบบบูรณาการ เพื่อการขับเคลื่อนอย่างมีเอกภาพ รวมถึงต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ SDG โดยเฉพาะเรื่องของความยากจน ความเท่าเทียม และพลังงานทดแทน ที่รัฐบาลยังทำไม่ได้ตามเป้าหมาย,

ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ที่ประกาศนโยบายความยั่งยืนเร่งด่วนเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน โดยริเริ่มโครงการ One Planet Summit เพื่อระดมทุนจากภาครัฐและเอกชน สำหรับโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและความหลากหลายทางชีวภาพ, นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ที่ประกาศนโยบาย Clean India Mission เพื่อสนับสนุนการผลักดันการแก้ปัญหา SDG โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพระบบสุขาภิบาล  และให้ความมั่นใจว่าประชาชนอินเดียทุกคนไว้ ไม่ว่าร่ำรวยหรือยากจนจะสามารถเข้าถึงน้ำดื่ม-น้ำใช้ที่สะอาดอย่างเท่าเทียม เพื่อสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนของชาวอินเดีย หรือแม้แต่ ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ของจีน ก็ได้ประกาศนโยบาย Belt and Road เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน และสร้างพันธมิตรที่จะมาร่วมกันดำเนินงานเพื่อสู่เป้าหมาย SDG ตลอดเส้นทางสายไหม เพื่อเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

และนี่คือส่วนหนึ่งของ “ผู้นำภาคธุรกิจ” ที่มุ่งมั่นสร้างรากฐานความยั่งยืนให้กับประเทศของเรา และมีความสนใจในนโยบายความยั่งยืนของว่าที่รัฐบาล ที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจ และประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาสังคมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ และภูมิภาค และนอกจากนี้ผมยังได้รับคำถามที่เกี่ยวกับ “นโยบายความยั่งยืนของพรรคการเมือง” อีกมากมายจากเพื่อนๆ ในวงการ CSR และการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งตอนนี้ผมได้ประสานเพื่อขอพูดคุยกับผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ ที่สนใจเรื่องนี้ และจะขออนุญาตนำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับต่อไป โปรดติดตามได้ในทุกวันอาทิตย์ที่เซคชั่น “Sustainable Sunday ยั่งยืนสุดสัปดาห์” และ “แพลตฟอร์มออนไลน์ของเดลินิวส์” นะครับ

เอกชนกับความยั่งยืน

“ในวันนี้โลกยังคงเผชิญความท้าทายมากมายในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากการรักษาภาวะโลกร้อน ไม่ให้อุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 2 องศาฯ แล้ว การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพ ยังคงได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น และจำเป็นต้องใส่ใจอย่างเร่งด่วน” คุณศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย

“การดำเนินการด้านความยั่งยืน ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจปรับตัวได้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก สามารถเกิด Business Model ใหม่ๆ และเพิ่มมูลค่าของสินทรัพย์ได้ แต่ความยั่งยืนไม่สามารถทำได้เพียงคนเดียว ต้องร่วมมือ และมี Partnership จากหลายหน่วยงาน” คุณฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)

“การขับเคลื่อนการเงินยั่งยืน ให้ไปพร้อมกันทั้งประเทศนั้น ทุกธนาคารควรแข่งกันทำ แล้วมาแบ่งปัน เรียนรู้ด้วยกัน ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการจูงใจ และข้อบังคับทางกฎหมาย ไปพร้อมกัน ถ้าเราไม่มีกรอบ ไม่มีแรงจูงใจที่ดี โอกาสสำเร็จในเวลาที่กำหนดก็ยาก” คุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

“ครัวของโลก เป็นหน้าที่สำคัญ ที่มุ่งมั่นในการสร้างอาหารมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรโลก อันรวมถึงการส่งเสริมความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานด้วยการ สร้างคุณค่าร่วมในขบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน” คุณประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)

“ความยั่งยืนไม่ใช่ Cost แต่มันคือโอกาสในการเกิดธุรกิจใหม่ เมื่อเราล่วงรู้มาแล้วว่า Climate Change กำลังเกิดขึ้น เราสามารถคิดให้เป็น Business Model ใหม่ได้” คุณจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

“ด้วยการพัฒนาไม่หยุดยั้ง ทำให้เราพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำนั้น คือ นวัตกรรมของการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานดั้งเดิม สู่พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” คุณธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

ขอบคุณข้อมูล รายงาน SDGs Mega Trends 2023 จัดทำโดย UN Global Compact