เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปรามปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่า กลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Group on Money Laundering : APG) ได้เผยแพร่รายงานผลการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการต่อต้านการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2564 โดยระบุว่า ไทยมีผลการปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านกรอบกฎหมายเพิ่มขึ้น 4 ประเด็น เรื่องความร่วมมือภายในประเทศ มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินตัวแทน ข้อกำหนดในการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย การดำเนินการกับประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการฟอกเงินและก่อการร้าย และข้อกำหนดในการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ยังสามารถคงระดับผลประเมินมาตรฐานสากลที่เปลี่ยนแปลงได้อีก 3 ข้อ โดยเฉพาะประเด็นการกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศลำดับต้นๆ ของโลกที่มีกฎหมายกำกับดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิ ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา มองโกเลีย และบังกลาเทศ ถูกลดระดับลง

พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยได้รับการประเมินด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดีขึ้นจากเดิม 27 ข้อ เป็น 31 ข้อ จากทั้งหมด 40 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 61.15 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการประเมินครั้งก่อนเมื่อปี 2560 ที่ได้เพียงร้อยละ 56.18 ซึ่งเกิดจากรัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จนทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่ผ่านมา ปปง.ทำงานเชิงรุกมาตลอด มีการสืบสวนสอบสวนขยายผลจนนำไปสู่การยึดอายัดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 300 ล้านบาทจากองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติในความผิดเกี่ยวกับการลักลอบค้าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นความผิดหนึ่งในความผิดมูลฐาน และเป็นการปฏิบัติตามอนุสัญญาไซเตส ซึ่งเป้าหมายสำคัญ คือ การตัดวงจรท่อน้ำเลี้ยงขององค์กรอาชญากรรม อาชญากรรมข้ามชาติ และการก่อการร้าย เพื่อให้ไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิก FATF ต่อไป.