เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยเวียตเจ็ท เปิดเผยถึงแผนขยายเครือข่ายเส้นทางบินของสายการบินไทยเวียตเจ็ท ผ่านระบบ Zoom ว่า วันที่ 15 ก.ย.64 สายการบินไทยเวียตเจ็ท จะครบรอบ 5 ปีในการทำการบินเที่ยวบินประจำ โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคยประสบปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัย แต่บางช่วงเวลาต้องประสบกับปัญหาเที่ยวบินล่าช้า(ดีเลย์) บ้าง ซึ่งได้ปรับปรุงแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีกแล้ว ด้วยการขยายฝูงบินเพิ่มมากขึ้น โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้ขยายฝูงบินเพิ่มขึ้นถึง 433% จากช่วงแรกที่มีเครื่องบินเพียง 3 ลำ จนกระทั่งปี 63 มีเครื่องบิน 15 ลำ ปี 64 มีแผนรับมอบเครื่องบินอีก 3 ลำ และในอีก 3-4 ปีข้างหน้าตั้งเป้ามีเครื่องบินประจำฝูงบิน 50 ลำ และให้บริการครอบคลุมประเทศในกลุ่มอินโดจีน, อาเซียน, เอเชียใต้, เอเชียเหนือ และจีน
นายวรเนติ กล่าวต่อว่า ในส่วนของเส้นทางบินนั้น ปัจจุบันสายการบินไทยเวียตเจ็ทให้บริการ 10 เส้นทางบินในประเทศ ซึ่งในช่วงปลายปี 63 ถึงต้นปี 64 เป็นสายการบินที่มีเที่ยวบินภายในประเทศให้บริการเยอะที่สุดประมาณ 120 เที่ยวบินต่อวัน โดยตั้งเป้าว่าปีนี้จะเป็นผู้นำในการฟื้นตัวของตลาดการบินในประเทศ และในปี 64 จะเป็นผู้นำในการฟื้นตัวของตลาดการบินระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามวันที่ 1 ก.ย.64 สายการบินฯ พร้อม 100% ในการกลับมาทำการบิน โดยจะเปิดเส้นทางใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ ภูเก็ต-เชียงใหม่ ให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.64 และ ภูเก็ต-อุดรธานี ให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 นอกจากนี้จะเปิดเส้นทางบินใหม่ระหว่างประเทศ 3 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-ไทเป (ไต้หวัน) ให้บริการ 20 ต.ค.64, กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ ให้บริการ 21 ต.ค.64 และภูเก็ต-สิงคโปร์ ให้บริการ 21 ต.ค.64
นายวรเนติ กล่าวอีกว่า คาดว่าตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้ เที่ยวบินของสายการบินไทยเวียตเจ็ทจะกลับสู่ 100-120 เที่ยวบินต่อวันอีกครั้งเท่ากับช่วงเดียวกันของปี 63 โดยเดือน ก.ย. อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (เคบินแฟกเตอร์) จะอยู่ประมาณ 50-60% ส่วนเดือน ต.ค. จะขยับมาอยู่ที่ 60-75% และเดือน พ.ย.-ธ.ค. จะอยู่ที่ 80% ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารตลอดทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 63 ประมาณ 10-15% ขณะที่รายได้น่าจะสูงกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยในปี 65 มีแผนที่จะลงทุนหลัก 100 ล้านบาทเกี่ยวกับการพัฒนาระบบไอทีในการให้บริการลูกค้า และการบริการที่เพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19