เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 66 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า ศปถ. รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 339 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 36 ราย ผู้บาดเจ็บ 330 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 41.30 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 22.12 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.97 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.17 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.28 บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง ร้อยละ 81.42 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 19.01-20.00 น. ร้อยละ 11.75 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 19.13

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 14 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 14 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 6 ราย เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,874 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 54,594 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 338,612 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 56,566 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 17,371 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 16,968 ราย

“สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 2 วัน ระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย. 66 เกิดอุบัติเหตุรวม 618 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 63 ราย ผู้บาดเจ็บ 618 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 25 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 7 ราย และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 27 คน”

นายบุญธรรม กล่าวต่อไปว่า จากการรวบรวมข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 2 วันที่ผ่านมาพบว่า พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ผู้ประสบเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 57.71 รองลงมาคือขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 18.36 ประกอบกับวันนี้เป็นวันแรกของวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ได้เดินทางถึงจุดหมายแล้ว อีกทั้งหลายพื้นที่มีการจัดงานเล่นน้ำสงกรานต์และมีการเฉลิมฉลองด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาดว่าจะมีการใช้เส้นทางถนนสายรอง โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมต่อถนนสายหลัก ระหว่างอำเภอ อบต. และหมู่บ้าน ทำให้มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง ศปถ. จึงได้กำชับจังหวัดประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างต่อเนื่อง เน้นการดูแลบริเวณสถานที่จัดงาน พื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ และเส้นทางโดยรอบพื้นที่โซนนิ่งเป็นพิเศษ

รวมถึงใช้กลไกในระดับพื้นที่ดำเนินมาตรการทางสังคมอย่างเข้มข้น ในการดูแลความปลอดภัยทางถนน เพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติงานของด่านชุมชน จุดตรวจ และจุดสกัด ในชุมชน/หมู่บ้าน เพื่อเฝ้าระวังผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ดื่มแล้วขับและขับรถเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เล่นน้ำที่ไม่สวมหมวกนิรภัย รถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำ พร้อมทั้งให้เข้มงวดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง.