จากกรณีข่าวเศร้าในแวดวงการเมือง และยังเป็นนักแข่งรถฝีมือดีอย่าง “เอ๋-ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ได้มีการรายงานว่าถูกนำตัวส่ง รพ.บุรีรัมย์ อย่างเร่งด่วนด้วยอาการฮีทสโตรก ต่อมาทีมผู้สื่อข่าวรายงานว่าชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ได้เสียชีวิตในวัย 55 ปี วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จะพาไปย้อนดูไทม์ไลน์ของเหตุการณ์และอาการเบื้องต้นของ “ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม”

ไทน์ไลน์ “เอ๋-ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม”
– เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม หรือ เอ๋ นักธุรกิจและนักการเมืองชาวไทย ได้เดินทางไปซ้อมแข่งรถที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ต่อมาช่วงเย็นมีการรายงานว่าถูกหามส่งโรงพยาบาลบุรีรัมย์ด่วน เนื่องจากหมดสติขณะซ้อมแข่งรถ โดยคาดการณ์สาเหตุเบื้องต้นจากอาการฮีทสโตรก

-เวลา 21.26 น. วันที่ 30 มีนาคม 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พร้อมนายเนวิน ชิดชอบ และครอบครัว นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เดินทางไปเฝ้าอาการ นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์

– ช่วงกลางดึกวันที่ 30 มีนาคม 2566 นายอนุทิน ระบุ หมอหัวใจดูแลอยู่ใกล้ชิด


– วันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 01.15 น. นายสุนทร ปานแสงทอง รัฐมนตรีช่วย ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันกับทีมผู้สื่อข่าวว่า เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ เสียชีวิตที่ รพ.บุรีรัมย์ และศพจะถูกเคลื่อนย้ายเวลา 09.00 น.

สำหรับ โรคฮีทสโตรก (Heatstroke) หรือโรคลมแดด เป็นภาวะที่เกิดจากร่างกายมีความร้อนสูงเกินไป ซึ่งมักเกิดจากการทำงาน ใช้แรงงาน หรือออกกำลังกายอย่างหนักในภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง มักเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่า และมักจะเกิดในช่วงฤดูร้อนหรือบริเวณที่มีความชื้นในอากาศสูง อาจทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ปอด ไต และกล้ามเนื้อได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้ บางรายถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้

สัญญาณเตือนอาการ
• ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงถึง 40 องศาฯ
• ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก
• หายใจถี่ ชีพจรเต้นแรง
• ปวดศีรษะ หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ
• อ่อนเพลีย คลื่นไส ้อาเจียน

การป้องกันโรคลมแดด
• ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
• ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ระบายอากาศได้ดี
• ใช้ครีมกันแดด SPF 15 และไม่ควรทาครีมกันแดดหนาจนเกินไป
• หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด หรือ การเล่นกีฬาในสภาพอากาศที่ร้อนจัด
• งดเครื่องดื่มแอลกฮอล์

กลุ่มเสี่ยง
• เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว
• ผู้ที่มีโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัว
• ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน
• ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ
• ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดดเป็นเวลานาน
• ผู้ที่ทำงานออฟฟิศ ที่ทำงานในห้องแอร์เป็นเวลานานแล้วออกมาเจอกับอากาศร้อนจัด จนร่างกายปรับตัวไม่ทัน
• ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่มากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม และในสภาพอากาศที่ร้อนจัด
• แอลกอฮอล์ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น จนอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้

พบคนเป็นลมแดด ควรดูแลให้ดีก่อนนำส่งโรงพยาบาล
• รีบนำคนป่วยเข้าไปอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่โดนแสงแดด เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายลง
• ให้คนป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
• คลายเสื้อผ้าให้หลวม เพื่อระบายความร้อนได้ไวขึ้น
• ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก ใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด
• หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @โรงพยาบาลสินแพทย์ เทพารักษ์, @กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข,@chonsawat28