เมื่อวันที่ 30 มี.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมแถลงสรุปผลการดำเนินงานเพื่อก้าวสู่ปีที่ 131 การศึกษาไทยในศตวรรษที่ 21 โดย น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการก้าวสู่ปีที่ 131 นั้นเราได้ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆเพื่อสร้างโอกาสให้แก่ผู้เรียนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะโครงการพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งเราดำเนินการตามเด็กกลับมาเรียนได้เกือบครบตามเป้าหมายทุกกลุ่มผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กพิการ กลุ่มเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา กลุ่มนักเรียนทั่วไป เพื่อสร้างโอกาสให้แก่เด็กทุกคน รวมถึงโครงการอาชีวะอยู่ประจำเรียนฟรีมีงานทำในวิทยาลัยอาชีวศึกษา 88 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเก็บเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา และสร้างโอกาสต่อยอดการเรียนให้แก่กลุ่มเด็กเปราะบาง ซึ่งขณะนี้โครงการอาชีวะอยู่ประจำเรียนฟรีมีอาชีพถือเป็นนโยบายที่ประสบความสำเร็จ และจะดำเนินการต่อเนื่องในเฟสสองด้วย รวมถึงโครงการทวิศึกษาที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนสายสามัญได้เรียนสายอาชีพควบคู่ไปด้วย โดยโครงการนี้จะปักหมุดดำเนินการในกลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และกลุ่มโรงเรียนขยายโอกาส เพื่อจะได้ต่อยอดผู้เรียนให้มีทักษะอาชีพและมีทางเลือกในการประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้มากขึ้น

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่ง ศธ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ ได้มีการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยใช้สหกรณ์กรออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน โดยมีกิจกรรมสำคัญ คือ การถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูจากสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ 2 แห่ง และขยายผลไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศ จำนวน 108 แห่ง และมีมาตรการที่สำคัญ เช่น  การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ การยกระดับการตัดเงินเดือนและควบคุมยอดหนี้ไม่ให้เกินความสามารถในการชำระหนี้ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ศธ.ยังมีโครงการขับเคลื่อนระยะสั้นในช่วง 3-6 เดือนในปี 2566 ภายใต้แนวคิด “สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณค่า” เพื่อสร้างความสุขให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ คือ  ครูเกษียณอายุราชการ กลุ่มแรงงานไม่มีสวัสดิการ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางวิชาชีพ กลุ่มที่ต้องการอาชีพเสริม และกลุ่ม NEED  มีแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะสั้น โดยเปิดรับสมัครอาสาสมัครกระทรวงศึกษาธิการ (อส.ศธ.) ผ่านระบบออนไลน์ วางเป้าหมายมีผู้สมัครกว่า 30,000 คน ซึ่งกระจายทุกพื้นที่ทั่วประเท เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมพัฒนาการอ่านออกเขียนได้และให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้กับเด็กที่อยู่ในวัยเรียน และผู้ที่มีความต้องการเรียนรู้ในพื้นที่ชุมชนด้วย