เมื่อวันที่ 30 ส.ค. น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการด้านการศึกษา นายวันนิวัติ สมบูรณ์ ส.ส.ขอนแก่น โฆษกกรรมาธิการการศึกษา และนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรค ร่วมรับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกรณีค่าสมัครสอบ (TCAS) และปัญหาการศึกษาของไทยในช่วงการระบาดของโควิด-19 จากตัวแทนนักเรียนกลุ่มชนราษฎร์ และตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในสเปซ ทวิตเตอร์ ซึ่งได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาในการจัดสอบเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาในปีนี้ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการสอบที่สูง โดยหากต้องการเข้าสอบเพื่อเรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ จะมีค่าใช้จ่ายอย่างต่ำ 3,710 บาท จนถึง 20,000 บาท ซึ่งถือว่าซ้ำเติมเด็กและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงการเปลี่ยนหน่วยงานออกข้อสอบ และแจ้งผู้เข้าสอบในเวลากระชั้นชิด จากเดิมแจ้งผู้ออกข้อสอบล่วงหน้า 3 ปี ปัจจุบันแจ้งผู้ออกข้อสอบล่วงหน้าก่อนสอบ 3 เดือน ซึ่งทำให้เด็กเตรียมตัวไม่ทัน เป็นต้น

น.ส.อรุณี กล่าวว่า ในฐานะที่ปรึกษาประจำคณะกมธ.การศึกษา ได้เฝ้าติดตามปัญหาการศึกษาไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มาโดยตลอด ตั้งแต่การสอบ TCAS ปี 2564 ต่อเนื่องจน ปี 65 แต่เรื่องนี้กลับไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและยังซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้น ทั้งการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายในการสอบ และวิสัยทัศน์ของผู้จัดการศึกษาที่บั่นทอนเด็ก โดยที่ไม่เคยติดตามผลกระทบที่เกิดจากการเรียนออนไลน์เลย ซึ่งคาดว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีนี้ จะทำให้เด็กในครอบครัวยากจนกลุ่มล่างสุดของประเทศไทยเกือบ 100% ไม่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

น.ส.อรุณี กล่าวต่อว่า จากการรับฟังปัญหาต่างๆ แล้ว เห็นว่าในภาวะการระบาดของโควิด-19 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( อว. ) ควรหยุดเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเข้าสอบทุกประเภท ทุกกรณี หรือ ฟรีค่าสอบ 0 บาท เพื่อให้โอกาสในการสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเป็นของเด็กไทยทุกคน นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ หากจะมีวิสัยทัศน์และความคิดสักครั้ง ควรพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้เป็นระบบ Crowdsourcing (คราวด์ซอสซิ่ง) เพื่อให้เด็กเลือกเรียนได้ แม้มีรายได้น้อย ซึ่งต้องพัฒนาควบคู่ไปกับระบบอินเทอร์เน็ตฟรีทุกบ้าน ซึ่งจะเป็นการปูทางไปสู่การใช้ชีวิตในยุค Next Normal หรือ ยุคหลังโควิด-19 ที่คนทั่วโลกจะต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ทั้งหมด

ด้าน นายชนินทร์ กล่าวว่า การวางระบบการสอบควรออกแบบให้มินิมอล เรียบง่าย ไม่ซ้ำซ้อน และมีความชัดเจน เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักเรียนและไม่สร้างภาระและความกังวลจนเกินไป แต่การจัดการสอบรอบนี้มีการจัดการหลายอย่างที่แสดงถึงความไม่เข้าใจเด็ก เช่น การปรับเปลี่ยนตัวผู้ออกข้อสอบและแจ้งแนวข้อสอบที่กะทันหันเกินไป การเลือกสถานที่สอบด้วยระบบสุ่ม และการเก็บค่าสอบสูง ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมลํ้าของการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

ขณะที่ นายวันนิวัติ กล่าวว่า การศึกษาควรเป็นการเปิดโอกาสเพื่อเอื้อให้เด็กได้เข้าร่วมคัดเลือกการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาด้วยความรู้เฉพาะทาง ต้องทำให้เด็กเข้าถึงการศึกษาให้ได้ทุกคน หรือมากที่สุด ไม่ใช่การตัดโอกาสแล้วคัดเด็กทิ้งออกไป ด้วยการคัดกรองด่านแรกคือความพร้อมทางการเงิน เพราะจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยให้ยิ่งห่างออก หากรัฐบาลนิ่งเฉย ทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปในที่สุด และเมื่อถึงวันนั้นประเทศไทยจะถดถอยล้าหลังมากกว่าที่เกิดขึ้นในวันนี้.