นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ซึ่งมี นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เป็นประธานว่า ที่ประชุมอนุมัติสั่งจ้าง บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 10,325 ล้านบาท ซึ่งเป็น 1 ใน 14 สัญญาของโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ระยะ (เฟส) ที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท โดยโครงการฯ มีแผนก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 69 และเปิดให้บริการในปี 70

นายอนันต์ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้ รฟท. จะส่งร่างสัญญา 4-5 ให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อความรอบคอบ เพราะในสัญญาต้องระบุเงื่อนไขเพิ่มเติมให้สามารถเปลี่ยนแปลงสัญญาภายหลังได้ เนื่องจากขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เชื่อมโยงกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งหากผล HIA ระบุว่าต้องปรับปรุงตัวแบบสถานีอยุธยา รฟท. ก็จะสามารถให้เอกชนก่อสร้างตามแบบที่ปรับใหม่ได้ รวมถึงหากแบบที่ปรับใหม่ต้องใช้เงินเกินกรอบที่กำหนดไว้ รฟท. ก็ต้องเสนอขออนุมัติ เพื่อพิจารณาเพิ่มงบประมาณต่อไป แต่ รฟท. จะพยายามคุมไม่ให้เกินกรอบวงเงินที่กำหนดไว้

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า คาดว่าจะใช้เวลาในขั้นตอนการตรวจสอบร่างสัญญาฯ ประมาณ 1 เดือน จากนั้นจะดำเนินการลงนามสัญญากับเอกชน เมื่อลงนามแล้วเสร็จ เอกชนจะสามารถเริ่มก่อสร้างงานทางวิ่งไปก่อนได้เลย โดยไม่ต้องรอผล HIA ของสถานีอยุธยา ส่วนอีก 2 สัญญาที่ยังไม่ได้ลงนามสัญญานั้น ที่ประชุมยังไม่ได้หารือ โดยขณะนี้สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.2 กม. ยังรอกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10JV ยืนยันราคาประมาณ 9.3 พันล้านบาท ก่อนลงนามสัญญาต่อไป ขณะที่สัญญาที่ 4-1ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. ซึ่งเป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ยังอยู่ระหว่างเจรจาเรื่องแก้ไขสัญญา 

นายอนันต์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยให้ รฟท. ดำเนินการตามมติ กพอ. ในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ในประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) 7 งวด โดย รฟท. จะได้รับค่าสิทธิฯ ครบ 10,671 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย และค่าเสียโอกาสของ รฟท. อีก 1,060 ล้านบาท รวมทั้งเอกชนยังรับภาระหนี้ตามเดิม ซึ่งจะทำให้รัฐไม่เสียประโยชน์ และเดินรถไฟฟ้า ARL ได้ต่อเนื่อง 

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ รฟท. อยู่ระหว่างเร่งประสานกับหน่วยงานราชการ เพื่อขอใช้พื้นที่ 3 แปลงในการดำเนินงานช่วงพื้นที่โครงสร้างทับซ้อนของโครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน และรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน ทั้งนี้ เบื้องต้นตามแผนงานที่ปรับใหม่ รฟท. คาดว่าจะสามารถออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) ก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้.