เอสเอ็มอีมีสัดส่วน 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ และสร้างการจ้างงานกว่า 70% ของการจ้างงานทั้งประเทศ มีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยและเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจฐานราก หากเกษตรกรเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ เอสเอ็มอี คือเส้นเลือดของประเทศไทย การยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอีและภาคแรงงานแบบวงจรคู่ขนาน ที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกันเพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยสู่บีซีจี อีโคโนมี ครีเอทีฟ อีโคโนมี ดิจิทัล อีโคโนมี

โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนและก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุดทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่คำนึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการยกระดับขีดความสามารถความเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และภาคแรงงานเป็นฐานในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนให้กับเอสเอ็มอีด้วยนวัตกรรม และสร้างอนาคตเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

ภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งภาคส่วนต่าง ๆ ต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าสู่กรีน เอสเอ็มอี หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสีเขียวควบคู่กับการพัฒนาภาคแรงงานสีเขียว ให้สอดรับกับการขับเคลื่อนกรีน อีโคโนมี ซึ่งนำพื้นฐานแนวคิดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนร่วมด้วย ดังนั้นเป้าหมายตัวชี้วัดการขับเคลื่อนร่วมกันของภาครัฐ
และเอกชนต้องให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็นหลัก คือ

1. การขยับจีดีพี เอสเอ็มอี ที่อยู่ระดับ 35% ของจีดีพีประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นจากการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าและบริการเอสเอ็มอี สู่กรีนโพรดักส์ และกรีน เซอร์วิส รวมทั้งพัฒนาแรงงานสีเขียวที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาสู่กรีนเอสเอ็มอี ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า ภาคบริการท่องเที่ยว และภาคธุรกิจเกษตร

2. การขยายตลาดภาคการส่งออกของเอสเอ็มอี ทั้งการเพิ่มจำนวนเอสเอ็มอี ภาคการส่งออกทางตรงที่มีอยู่ประมาณ 22,000 ราย ขยายซัพพลาย เชน เอสเอ็มอี ที่อยู่ในภาคการส่งออกและสัดส่วนมูลค่าการส่งออกของเอสเอ็มอีที่มีอยู่ประมาณ 13% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดให้เพิ่มมากขึ้นจากกระแสการตื่นตัวของนานาประเทศในเรื่องกรีน อีโคโนมี ที่ชูธงนำเรื่องการรักษาและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงรุก

3. Carbon neutrality ไม่ได้ประกาศเพื่อโชว์วิสัยทัศน์แต่ต้องนำมาเป็นยุทธศาสตร์ แผนกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลง SME ให้เป็นรูปธรรม เช่น กรีนทัวริสซึ่ม, กรีน บอนด์, กรีน อินดัสทรี, กรีน เอเนอร์จี ใช้การออกแบบนโยบายมาตรการจูงใจเอสเอ็มอีในการให้เป็นแต้มต่อของโอกาสสร้างการเปลี่ยนผ่านเอสเอ็มอีสู่กรีน เอสเอ็มอีที่สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้กับประเทศไทย

ประเทศไทยต้องทำให้เอสเอ็มอีสีเขียว-แรงงานสีเขียว ไม่เป็นอุปสรรค ต้องใช้ประโยชน์จากกระแสคลื่นนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนนี้สร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีและแรงงานสีเขียวได้มีความรู้ความเข้าใจ ร่วมมือกับภาครัฐปรับเปลี่ยนธุรกิจสร้างระบบนิเวศธุรกิจสีเขียว มีส่วนร่วมสร้างคุณค่าให้กับสังคมประเทศชาติและดำเนินการธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ส่งผลให้เอสเอ็มอีแข่งขันได้ มีคุณภาพระดับสากล “สร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแรงงานไทยสีเขียวลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและปลูกฝังธรรมาภิบาลเข้าไปในดีเอ็นเอเอสเอ็มอีและแรงงานไทยสู่ความยั่งยืน”.