โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ไทยมีความเสี่ยงสูงจาก “ไคลเมท เชนจ์” หรือการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบเร็ว รุนแรงกว่าคาด จากข้อมูลพบว่า 1 ใน 3 ของแรงงานไทยอยู่ในภาคเกษตร และกว่า 20% ของโรงงานไทยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงนํ้าท่วมจากที่ระดับนํ้าทะเลสูงขึ้น ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดโดยรอบ

“ดร.เศรษฐพุฒิ” ระบุว่า อุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในโลกเก่า ไม่รองรับกระแสความยั่งยืน มี 30% ของจีดีพี ภาคอุตสาหกรรมไทยอยู่ในโลกเก่า ได้แก่ ยานยนต์ ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี และยังมีอีก 13% ของจีดีพี ภาคอุตสาหกรรม อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันด้านสิ่งแวดล้อมอย่างซีแบม (CBAM) ของสหภาพยุโรป หรืออียู

“การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โจทย์คือทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านมีอุปสรรค หรือต้นทุนน้อย และช่วงเวลาความเร็วเหมาะสมกับบริบทประเทศ และความพร้อมของแต่ละภาคส่วน ซึ่งบทบาทของธปท. เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน นับสนุนภาคการเงินให้ปรับตัว และตอบโจทย์การปรับตัวของภาคธุรกิจ หรือครัวเรือนได้ดีขึ้น ซึ่งภาคการเงินต้องมีบริการทางการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม และผนวกเรื่องนี้ในการดำเนินธุรกิจ”

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมมีไม่มาก และจำกัดอยู่ในบางอุตสาหกรรม หรือกิจการขนาดใหญ่ เช่น พลังงาน ครัวเรือน เอสเอ็มอี ยังมีปัญหาการเข้าถึงผลิตภัณฑ์หรือเผชิญต้นทุนสูง ซึ่งในแต่ละภาคส่วนยังมีภาพกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ตรงกัน บวกกับธนาคารขาดเป้าหมายที่ชัดเจนในการดำเนินงานเรื่องนี้

ธปท. จึงจะเร่งผลักดัน กำหนดแนวนโยบาย และจัดทำคู่มือปฏิบัติของธนาคารในปี 66 เพื่อให้ธนาคารมีนโยบาย และ
เป้าหมายที่ชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านและผนวกในการดำเนินงานแบบครบวงจร
เช่น การพิจารณาให้สินเชื่อ ขณะที่สิ่งที่จะสร้างแรงจูงใจที่ช่วยลดภาระ และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการปรับตัว เช่น สินเชื่อทรานฟอร์เมชัน

รวมทั้งการจัดทำแท็กโซโนมีในไทยที่เหมาะสมกับบริบทของไทย เริ่มต้นในช่วงไตรมาสแรกปี 66 จากภาคพลังงานและขนส่ง และภายในปี 67 จะขยายไปสู่ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และพัฒนาบวกกับเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมของธนาคารและภาคธุรกิจ

เราจะเห็นอะไรจากการเปลี่ยนผ่าน? กิจกรรมเศรษฐกิจ สีนํ้าตาลเข้ม นํ้าตาลอ่อน และสีเขียว เดิมธนาคารขาดทิศทางการดำเนินงานในการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งบางธนาคารปล่อยผ่านไปก่อน เพราะกลัวเสียลูกค้า และบางธนาคารเข้มจนตัดขาดธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเปลี่ยนเป็นธนาคารมีแนวปฏิบัติมาตรฐาน หรือไม้บรรทัดใช้อ้างอิงในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร และบริหารจัดการความเสี่ยง เช่น การให้สินเชื่อ โดยทุกธนาคารปรับตัวในทิศทางเดียวกัน ไม่ลักลั่น และธนาคารประเมินโอกาส ความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ธุรกิจ หรือครัวเรือนได้ดีขึ้น

ที่ผ่านมาธุรกิจเผชิญต้นทุนสูง จนขาดแรงจูงใจในการปรับตัว โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีสายป่านสั้น และขาดหลักประกัน เมื่อเข้าสู่การปรับเปลี่ยนธุรกิจมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินในการปรับตัว โดยสินเชื่อทรานฟอร์เมชัน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจ เช่น สินเชื่อโซลาร์เซลล์ และสินเชื่อเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน

ขณะที่เดิมแต่ละภาคส่วนเห็นภาพไม่ตรงกันว่ากิจกรรมใดสีเขียว นํ้าตาลอ่อน นํ้าตาลเข้ม ปรับตัวไปคนละทิศทาง และมีการกล่าวอ้างเกินจริง ซึ่งถ้าหากมีการเปลี่ยนผ่านจะทำให้ทุกภาคส่วนเห็นภาพกิจกรรมสีเขียวเหมือนกัน โดยอิงจากนิยาม หรือหมวดกิจกรรมสีเขียว (แท็กโซโนมี) ที่เป็นมาตรฐาน สอดคล้องกับบริบทไทย โดยทุกภาคส่วนใช้อ้างอิงเพื่อกำหนดนโยบาย เป้าหมายการปรับตัวได้ชัดเจนขึ้น โดยธนาคารตั้งเป้าการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านได้ดีขึ้น และจัดสรรเงินทุนได้ตรงจุดขึ้น

สุดท้ายหากการจัดไทยแลนด์ แท็กโซโนมีสำเร็จ มีการแบ่งแยกกิจกรรมสีเขียวเกิดขึ้น จะพบข้อแตกต่างเช่นจากเดิมพอร์ตสินเชื่อธนาคาร จะมีสินเชื่อธุรกิจพลังงาน 100 ล้านบาท แต่เมื่อมีแท็กโซโนมี พอร์ตสินเชื่อธนาคารจะแบ่งได้เป็น สีเขียว สินเชื่อแก่ธุรกิจพลังงานโซลาร์ 20 ล้านบาท , สีนํ้าตาลอ่อน สินเชื่อแก่ธุรกิจพลังงานฟอสซิลที่ลดการปล่อยคาร์บอน 30 ล้านบาท และสีนํ้าตาลเข้ม สินเชื่อแก่ธุรกิจพลังงานฟอสซิล 50 ล้านบาท ซึ่งจะได้เห็นความชัดเจนมากยิ่งขึ้น.