รวมถึงไทยของ Booking.com ระบุชัดว่า ต้องการตัวเลือกด้านการเดินทางที่มีความยั่งยืนและตระหนักต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นั้นมีเพิ่มมากขึ้น ผลการสำรวจยังยํ้าอีกว่าจำนวนของผู้ที่ต้องการเดินทางอย่างยั่งยืนในปีนี้มีเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เทียบกับผลการสำรวจนักท่องเที่ยวปี 64

สอดคล้องกับข้อมูลของ Sustainable Travel Report 2022 ที่ระบุว่านักเดินทางทั่วโลกกว่า 61% วางแผนการเดินทางที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และอีก 81% ต้องการพักในโรงแรมที่มีการจัดการด้านพลังงานอย่างยั่งยืน อีกทั้งนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อการเดินทางและกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือช่วยสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้แถลงแผนเพื่อการสื่อสารทิศทางและแนวทางการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวประจำปี 66 มุ่งสู่ “ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือเน็ตซีโร่” พลิกโฉมการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน และสร้างคุณค่าการเดินทางสู่ High Value & Sustainable Tourism สอดรับกับ แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสร้างขยะลง 2% ต่อปี เพิ่มจำนวนแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจบริการรับมาตรฐานความยั่งยืนในระดับสากล 30% ภายในปี 70

ททท. ได้ฉายภาพการท่องเที่ยวในปี 66 นอกจากเน้นส่งเสริมท่องเที่ยวในมิติเชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรฐานความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สร้างสินค้าท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม เน้นประสบการณ์มากกว่าขายแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป หรือ “Meaningful Travel” ซึ่งเป็นอีกเทรนด์สำคัญที่นักท่องเที่ยวกำลังได้รับความนิยม รวมถึง “Responsible Tourism” หรือ “การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ” เน้นเสนอขายสินค้าการท่องเที่ยวด้วยแนวคิด Responsible Tourism, บีซีจี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งยังจะทำงานกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการสนับสนุนการสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภายใต้เป้าหมายการผลักดันการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวที่เป็นนิวแชปเตอร์

เรื่องนี้ทาง “ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศแห่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  (ททท.) ขยายความว่า ททท. เตรียมเปิดตัวโครงการโลว์คาร์บอน เดสทิเนชั่น 5 ภูมิภาคภายในอีก 2 เดือนข้างหน้านี้ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว เทรนด์การท่องเที่ยวโลกที่เปลี่ยนไป และเป็นแผนทำงานของ ททท. ปีนี้

โดยภาคตะวันออกจะนำร่องในพื้นที่เกาะหมาก จังหวัดตราด ซึ่งเป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลกจากการรักษาความสะอาด สะดวก และปลอดภัย ตามแนวทางการท่องเที่ยวยั่งยืนที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวโลว์คาร์บอนแห่งแรกของไทย ส่วนในภูมิภาคอื่น ๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยจะเน้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนเมืองรองเป็นหลัก

ขณะที่มุมมองผู้ประกอบการ เป็นส่วนสำคัญในการร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดย “มาริสา สุโกศล หนุนภักดี” นายกสมาคมโรงแรมไทย มองว่า ผู้ประกอบการโรงแรมได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว ขณะเดียวกันได้มีการจัดคอร์สอบรมให้กับโรงแรมเพื่อให้ตระหนักและปรับเปลี่ยนวัสดุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดขยะส่วนเกินจากอาหาร โดยเฉพาะในงานมีตติ้งที่จะต้องจัดเป็นบุฟเฟต์ ก็พยายามทำความเข้าใจกับลูกค้าเพื่อเปลี่ยนจัดในรูปแบบเซตเดี่ยวแทน

ขณะเดียวกับโรงแรมหลายแห่งมีการร่วมกับองค์กรเพื่อส่งต่อด้านอาหารที่เหลือไปให้กับผู้ยากไร้ นอกจากนั้นหลายโรงแรมเริ่มมีการลดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ขวดใส่สบู่ แชมพู จากเดิมที่ใช้ขวดเล็กก็เปลี่ยนเป็นขวดใหญ่ รวมถึงการใช้หลอดกระดาษ เป็นต้น

ต้องยอมรับเทรนด์ท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปและการจัดประชุมบริษัทข้ามชาติ โดยจะเลือกจัดงานกับโรงแรมที่มีการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ วัสดุในการจัดงานที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก อย่างไรก็ตามโลเกชันเป็นสิ่งแรกที่นักท่องเที่ยวยุโรปจะตัดสินใจเลือกจองโรงแรม ส่วนการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นสิ่งที่รองลงมา…แต่หากมีสองสิ่งพร้อมกันก็จะช่วยให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเลือกมากขึ้น และบางเว็บไซต์ท่องเที่ยว จะมีการระบุชัดเจนว่า โรงแรมไหนบ้างที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน.