โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินสถานการณ์และออกเตือนผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉพาะด้านการส่งออกให้เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มมีมาตรการลดโลกร้อน อย่างสหภาพยุโรปที่จะเริ่มใช้มาตรการ CBAM (ซีแบม) ในเร็ว ๆ นี้

CBAM คืออะไร? เป็นมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภท เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในอียูในสินค้า 5 กลุ่มแรก ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการรั่วไหลของคาร์บอนสูง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย และอะลูมิเนียม

ในภาพรวมการส่งออกของไทยไปยังอียู ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายหลักของ CBAM มีสัดส่วนไม่มากนัก โดยมีการส่งออกหลักใน 2 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอะลูมิเนียม มีมูลค่ารวมในปี 64 อยู่ที่ 18,100 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.3% ของมูลค่าการส่งออกรวมไปยังอียูและคิดเป็น 5.8% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันทั้งหมด โดยมีจำนวนผู้ส่งออกเกี่ยวข้อง 1,298 ราย

สำหรับการปรับใช้มาตรการที่อียูเตรียมบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป พร้อมกับขยายไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น เช่น สารอินทรีย์พื้นฐาน พลาสติกและโพลีเมอร์ แก้ว เซรามิก ยิปซัม กระดาษ โดยในช่วง 3 ปีแรกจากนี้ สินค้านำเข้าของผู้ประกอบการส่งออกจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกอียูที่มีราคาสูงกว่า 150 ยูโร ในอุตสาหกรรมเป้าหมายจะยังไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมคาร์บอน แต่จะต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้าที่จะนำเข้าไปยังอียูเท่านั้น

ในระยะต่อไปภายในปี 68 ทางอียู จะทำการพิจารณาผลการดำเนินมาตรการ CBAM จากข้อมูลที่ได้รับในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนจะพิจารณาบังคับใช้การคิดค่าธรรมเนียมคาร์บอนตั้งแต่ปี 69 เป็นต้นไป รวมถึงการขยายขอบเขตอุตสาหกรรมเป้าหมายของ CBAM ให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมที่บังคับใช้ในระบบอียู อีทีเอส เช่น สารอินทรีย์พื้นฐาน พลาสติกและโพลีเมอร์ แก้ว เซรามิก ยิปซัม กระดาษ เป็นต้น

พร้อมทั้งลดบทบาทของระบบอียู อีทีเอส ลงจนสิ้นสุดลงภายในปี 77 ซึ่งผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไปยังอียูควรเตรียมความพร้อมด้านระบบวัดผลและรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตของสินค้าตนเองตามมาตรฐานที่กำหนดเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการดำเนินมาตรการ CBAM ของอียู

ดังนั้น ก่อนที่มาตรการนี้จะเริ่มใช้จริงเต็มรูปแบบช่วงเวลา 3 ปีนี้ยังพอมีเวลาให้ทุกคนได้ปรับตัว เพราะต่อไปไม่ใช่แค่อียูที่จะมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมออกมากดดันให้ผู้ผลิตสินค้าต้องหันมาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่จะมีประเทศคู่ค้าอื่นทั่วโลกทยอยออกมาตรการเช่นนี้มาอย่างแน่นอน.