ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่โลกกำลังร้อนขึ้นทุกวัน…จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอส ซิลทำอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นไป 1.5 องศาเซลเซียสจากฐานของอุณหภูมิโลกเมื่อ พ.ศ. 2393 หากปล่อยสถานการณ์ให้เลวร้ายขึ้น อุณหภูมิโลกจะสูงเกินเพดาน 1.7-1.8 องศาเซลเซียส ถึงเวลานั้นโลกจะพบกับความหายนะอย่างแน่นอน!

จึงเป็นที่มาของ การประชุมสห ประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 ที่สกอตแลนด์ หรือคอป 26 ที่ให้ 200 ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ตอกยํ้าแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อจำกัดอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามเป้าหมาย ตั้งแต่การประชุมที่ประเทศฝรั่งเศสในปี 59 หรือความตกลงปารีสคอป 21 จนมาถึงการประชุมคอป 27 ในปี 65 ที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชี้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้เพิ่มสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว หากยังไม่ตื่นตัวเร่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจะทำให้เกิดโลกร้อนขึ้น

ข้อมูลที่น่าตกใจของคนไทยสำนักงานประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติได้เปิดข้อมูลดัชนีความเสี่ยงของประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ช่วงปี 2543-2562 มี 9 ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ เปอร์โตริโก, เมียนมา, เฮติ, ฟิลิปปินส์, โมซัมบิก, บาฮามัส, บังกลาเทศ, ปากีสถาน และประเทศไทย

สิ่งที่ทั้ง 9 ประเทศนี้ต้องเจอคือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมาก

ที่น่าตกใจยิ่งกว่าจากข้อมูลของนักวิชาการทางสิ่งแวดล้อมหลายคน มองว่ารัฐบาลยังไม่มีการทำแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน และจริงจัง แม้ว่าจะออกมาประกาศไทยจะบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2608 ต่างจากเอกชนที่ดูจริงจังในการดำเนินการมากกว่า

พื้นที่  Green Together จึงจะพาไปเจาะลึกถึงแผนปฏิบัติการลดโลกร้อนของกระทรวงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องทำอะไรไปบ้างแล้วมีความจริงจังหรือแค่ปาหี่

เริ่มจาก กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนพลังงานชาติและแผนพลังงานรายสาขาใหม่ (ปี 2561-2580) 5 แผนรวด ทั้งแผนพีดีพี 2022 อีอีพี 2022 เออีดีพี 2022 ออยแพลน 2022 ก๊าซแพลน 2022 วางเป้าหมายไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออก ไซด์ให้เป็นศูนย์มีแผนลงทุนกริด โมเดอร์ไนเซชั่น หรือการพัฒนาระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัยรอง รับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศฉบับแรก

พร้อมเร่งบูรณาการหน่วยงานกำหนดแผนบูรณาการการลงทุน ดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ท กริด และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ระยะ 5 ปี ปี 2565–2574 ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง รวมทั้งปลดล็อก ปรับปรุงกฎกติกา เพื่อส่งเสริมการซื้อขายไฟสะอาดเชิงพื้นที่ และกำหนดแพลตฟอร์มซื้อขายไฟฟ้าในระยะทดลองในพื้นที่นำร่อง จัดหาและบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยจากปี 65 ที่เปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 และในปี 66 มีการลงนามในสัญญาการประกาศผลผู้ได้รับสิทธิต่อไป

ขณะเดียวกันยังกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการดำเนินงานและพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน เพื่อศึกษาศักยภาพ และข้อเสนอแนะการปรับปรุงระเบียบ และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานต่อไป รวมทั้งยังส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จไฟ และขยายผลการลงทุนพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ ทั้งโรงไฟฟ้าขยะ การติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยนํ้า และการส่งเสริมการลงทุนพลังงานทดแทนตามแผนพีดีพี และเออีดีพีที่ปรับปรุงใหม่

รวมทั้งส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนผ่านกองทุนอนุรักษ์ฯ โดยภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน แบ่งเป็นกลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนาดเล็ก อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่และพื้นที่พิเศษ กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก 

ด้าน กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าตามแผนคอป 26 เน้นส่งเสริมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น นำแนวคิดบีซีจีมาใช้ในการประกอบการอุตสาหกรรมในระดับพื้นที่ การส่งเสริมการวางระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมแก่ผู้ประกอบการ การสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเตรียมพื้นที่อุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ประกอบการเหมืองแร่ให้ใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ การส่งเสริมการผลิตและใช้ประโยชน์พลังงานหมุนเวียนจากอุตฯอ้อยและนํ้าตาลทราย

พร้อมลดการปล่อยมลพิษ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกากอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการลดของเสียการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการในด้านการจัดการของเสียจากการผลิต การจัดทำฐานข้อมูลสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม การส่งเสริมสถานประกอบการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐานให้มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดปัญหามลพิษ

ส่วน กระทรวงการคลัง นำโดยกรมสรรพสามิตได้ศึกษาการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น แบตเตอรี่สินค้าอื่น ๆ นํ้ามันเชื้อเพลิง เพื่อดึงดูดให้มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น คาดได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ ได้ศึกษาและแจ้งเตือนเกี่ยวกับผลกระทบจากทั่วโลกมีการออกมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อาจจะมีผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุนของไทย เช่น ตอนนี้ทางยุโรปได้ประกาศมาตรการจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้าหรือซีแบม ที่จะเริ่มปีนี้ แต่บังคับจริงอีก 2 ปี มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรงในฐานะประเทศ “รับจ้างผลิต” ที่พึ่งพิงส่งออก

ฟาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้เข้าไปสนับสนุนการพัฒนาข้อมูลภูมิอากาศสำหรับดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ให้กับสำนักงานประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลกลางด้านภูมิอากาศของประเทศสำหรับประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยกระดับคุณภาพของผลผลิตและบริการด้านภูมิอากาศนำไปสู่การเป็นศูนย์บริการข้อมูลกลางด้านภูมิอากาศของประเทศ ส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าถึงและใช้บริหารจัดการความเสี่ยง และขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศ

ดู ๆ แล้วแต่ละกระทรวงยังเป็นแค่แผนที่ต้องรอภาคปฏิบัติว่าทำได้จริงตามที่ประกาศไว้หรือไม่? หากยังประมาทไม่ช่วยกันลดโลกร้อน ต่อไปโอกาสไม่มีแผ่นดินจะอยู่ อาจจะได้เห็นเร็วกว่าที่คาด.