นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. พร้อมบริษัทในกลุ่ม ประกอบด้วย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. น้ำมันและค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ได้ลงนามความรร่วม หรือเอ็มโอยูจำนวน 3 ฉบับ

1.โครงการพัฒนาพื้นที่ปลูก บำรุงรักษา และระบบนิเวศป่าไม้ ร่วมกับ กรมป่าไม้
2. โครงการพัฒนาพื้นที่ปลูก บำรุงรักษา และระบบนิเวศป่าไม้ ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
3.โครงการปลูกและบำรุงรักษาป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

เป็นการผนึกกำลังของภาคีภาครัฐและเอกชนทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เช่น การสนับสนุนงานวิจัยและแบ่งปันข้อมูลเชิงวิชาการ การปลูกป่าใหม่และฟื้นฟูบำรุงป่าเก่า ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าชุมชน และป่าชายเลน เพื่อเพิ่มพื้นที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และแหล่งกักเก็บคาร์บอน จำนวน 2 ล้านไร่ ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 หรือปี พ.ศ.2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2065 หรือปี พ.ศ.2608 ตามที่ประเทศได้กำหนดไว้

อย่างไรก็ตามกลุ่ม ปตท. ได้ตั้งเป้าหมายระยะสั้น ถึงระยะยาว มุ่งลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2040 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions ภายในปี 2050 จัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์กลุ่มปตท. หรือ G-NET เพื่อกำหนดกลยุทธ์เชิงรุกมุ่งบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสอดคล้องกับบริบทการดำเนินธุรกิจใน 3 แนวทางหลัก ประกอบด้วย

  1. ปรับ กระบวนการผลิต เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุดเปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  2. เปลี่ยน สู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนการลงทุนมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด และการเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน
  3. ปลูกป่าเพิ่ม เพื่อเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ

“การปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ จากเดิมที่ปลูกไปแล้ว 1.1 ล้านไร่ ถือเป็น 1 ในกลยุทธ์ “ปรับ เปลี่ยน ปลูก” ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้า Net Zero ภายในปี 2050 ด้วยการทำงานเชิงรุก ปรับกระบวนการผลิต ค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ พร้อมทั้งเปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมและสร้าง EV Ecosystem ในประเทศ รวมทั้งธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ซึ่งการปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ แบ่งเป็น ปตท. 1 ล้านไร่ และบริษัทในกลุ่ม ปตท. 1 ล้านไร่ ภายในปี 2030 จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนปีละกว่า 4.15 ล้านตัน” นายอรรถพล กล่าว

อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลุ่ม ปตท. ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อคนไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งในปัจจุบันเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญ เและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ภายใต้วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต 

นอกจากนี้ ปตท. ยังสร้างการมีส่วนร่วมและความตระหนักรู้ในเรื่องการปลูกป่าและดูแลสิ่งแวดล้อมให้กับคนไทย ผ่านแอปพลิเคชันเกม “คุณช่วยเก็บ เราช่วยปลูก” โดยต้นไม้ในเกมทุกต้นที่คนไทยร่วมกันเก็บและดูแล จะถูกนำมารวบรวมและลงแปลงปลูกจริงในพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ ซึ่งทุกคนสามารถดาวน์โหลดเกมดังกล่าวได้ทั้งในระบบ IOS และ Android ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

“กลุ่ม ปตท. มุ่งมั่นและพร้อมเป็นกำลังสำคัญของประเทศเพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการดำเนินงานในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพลิกฟื้นผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ เพื่อนำพาประเทศบรรลุเป้าหมาย Net Zero ที่ตั้งไว้ไปด้วยกันอย่างยั่งยืน”