เป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังจากเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ทางศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ได้รับแจ้งว่า ท่อบรรจุสารนิเคลียร์ ซีเซียม-137 หายจาก โรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ที่ตั้งอยู่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งภายหลังพบว่าถูกหลอมไปแล้ว ในโรงงานปราจีนบุรี ส่งต่อรีไซเคิลระยอง ซึ่งสารดังกล่าวนั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น
-เปิดไทม์ไลน์ ‘ซีเซียม-137’ สารกัมมันตรังสีอันตราย แรงถึงขั้นร่างกายเปื่อยเน่า
ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “หายนะแท่งซีเซียมถูกหลอมในโรงงานหลอมเหล็ก มีทั้งฝุ่นที่ปล่อยออกจากปล่องควัน ฝุ่นแดงในถุงกรองอากาศ ขี้เถ้าหนัก รวมทั้งฝุ่นในโรงงานคืออนุภาคซีเซียมที่ปล่อยรังสีแกมมาและเบตาออกมา คือสารสารก่อมะเร็ง ในอากาศ ในพืช ผัก ผลไม้ แหล่งน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รัศมีอย่างน้อย 5 กม. ระยะยาวอาจมีคนป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ดร.สนธิ ได้โพสต์อธิบายกระบวนการและผลกระทบของ “ซีเซียม-137” โดยระบุ “ถ้าแท่งโลหะที่บรรจุ Cs137ถูกหลอมรวมกับเศษเหล็กในโรงงานหลอมเหล็กแล้ว ผลกระทบที่ตามมาคือ”
1. ฝุ่นขนาดเล็กของ Cs137 ที่ปล่อยออกมาจากปลายปล่อง จะกระจายสู่บรรยากาศและตกลงสู่แหล่งน้ำ ดินที่อยู่รอบ ๆ โรงงาน และเกิดการปนเปื้อนเข้าสู่วงจรอาหาร ได้แก่ ผัก ผลไม้ อาหารจากแหล่งน้ำใกล้เคียงและอาหารแปรรูปจากวัตถุดิบทางการเกษตร เป็นต้น รวมทั้งอาจมีบางส่วนที่ประชาชนหายใจเข้าไปด้วย…สารนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายบางส่วนจะถูกขับออกจากร่างกายทางเหงื่อและปัสสาวะ และบางส่วนจะตกค้างและสะสมในกล้ามเนื้อ, ตับ, ไขกระดูก หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดความผิดปกติในระดับโครโมโซม คือเป็นมะเร็งนั่นเอง
2. หากโรงงานหลอมเหล็ก มีอุปกรณ์ควบคุมมลพิษทางอากาศ เช่น Baghouse Filter โดยจะทำการกรองฝุ่นเหล็กขนาดเล็กที่ปนเปื้อนสาร Cs137 หรือที่เรียกว่าฝุ่นแดงไว้ในถุงกรองในปริมาณมาก ซึ่งโรงงานหลอมเหล็กจะขายฝุ่นแดงดังกล่าว ให้กับโรงงานประเภท 106 นำไป Recycle เพื่อสกัดเอาธาตุสังกะสีไปใช้ ซึ่งจะทำให้สาร Cs137 แพร่กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้น และเกิดอันตรายต่อประชาชนและระบบนิเวศ
3. เมื่อเข้าเตาหลอมแล้ว ส่วนหนึ่งจะกลายเป็นขี้เถ้าหนัก (Bottom ash) โดยจะมีอนุภาคของ สาร Cs137 ปนเปื้อนในเถ้าหนักด้วย หากโรงงานนำไปฝังกลบใต้ดิน ก็อาจปนเปื้อนน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารและน้ำต่อไป
4. เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องสวมอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัย (PPE) เพื่อป้องกันการได้รับรังสี และทำการตรวจการปนเปื้อนของสาร Cs137 ภายในโรงงานทุกบริเวณ เช่น เถ้าหนัก ฝุ่นแดง กองเหล็ก เตาหลอม ดินและแหล่งน้ำ และฝุ่นละอองในโรงงาน เป็นต้น รวมทั้งต้องตรวจหารังสีปนเปื้อนที่ตัวพนักงานทุกคนด้วย..
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Sonthi Kotchawat