จากกระแสข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมยุบสภามาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา จนล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. เวลา 15.00 น. ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นั่นเท่ากับว่า หลังจากการยุบสภาครั้งนี้ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทำหน้าที่รักษาการต่อไปจนกว่าจะจัดการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งผลต่อเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้นั้นจะเป็นอย่างไร?
“ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ได้ให้สัมภาษณ์กับ “เดลินิวส์” หลังจากประกาศยุบสภาแล้ว ระบุว่า ผู้ประกอบการเอกชน และนักเศรษฐศาสตร์ ได้เป็นห่วงความล่าช้าของการใช้งบประมาณปี 2567 หากผลการเลือกตั้งออกมาได้ช้ากว่าคาด ก็อาจกระทบกับใช้จ่ายภาครัฐและเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้ แต่การใช้จ่ายภาครัฐไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้มากอยู่แล้ว โดยต้องติดตามว่ากว่าผลการเลือกตั้งรู้ผล จะทำให้งบปี 2567 ต้องเลื่อนออกไปหรือไม่
อย่างไรก็ตามหากงบปี 2567 ต้องเลื่อนออกไปก็อาจไม่กระทบกับการลงทุน โดยเฉพาะโครงการลงทุนเดิมที่สามารถสานต่อได้ แต่อาจมีปัญหากับโครงการใหม่ๆที่ต้องเลื่อนออกไป และล่าช้าได้บ้าง รวมทั้งความเชื่อมั่นนักลงทุน ที่เป็นการลงทุนโดยตรง หรือเอฟดีไอ ที่บางรายอาจรอรัฐบาลชุดใหม่ เช่น สิทธิการลงทุนอีอีซี และยานยนต์ไฟฟ้า ยกเว้นนักลงทุนที่คุ้นเคยกับประเทศไทยอยู่แล้ว ก็อาจไม่ได้กระทบมาก
ทั้งนี้ การเลือกตั้งใหม่ยังมีผลดีในเรื่องการใช้จ่ายในประเทศและเพิ่มรายได้ให้คนระดับล่าง หลังจากที่ผ่านมามีแต่ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นทำให้รายได้กลุ่มระดับกลางถึงบนฟื้นตัว โดยมองว่าการเลือกตั้งจะทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจคึกคัก มีเงินสะพัด มีกำลังซื้อมากขึ้น กลุ่มที่ได้รับอานิสงส์ เช่น ค้าปลีก อาหาร เครื่องดื่ม สิ่งพิมพ์ เป็นต้น และยังต้องติดตามนโยบายเรื่องค่าจ้างแรงงาน งบลงทุน สวัสดิการรัฐ ซึ่งจะเป็นสมการทางเศรษฐกิจในปีหน้า
ด้าน “ดร.ฐิติมา ชูเชิด” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน Economic Intelligence Center (EIC) ได้วิเคราะห์สถานการณ์การเลือกตั้งหลังจากยุบสภาแล้ว ว่า หลังจากยุบสภาแล้ว การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 ถือว่าเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะอาจกระทบการใช้จ่ายภาครัฐได้ ขึ้นกับความเร็วในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ของรัฐบาลชุดใหม่ แต่เชื่อว่า การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่กระทบการใช้จ่ายภาครัฐในปี 2566 เท่าไรนัก เพราะรัฐบาลปัจจุบัน ได้เร่งเบิกจ่ายงบลงทุนไว้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าปีงบประมาณที่ผ่าน ๆ มา
นอกจากนี้ ได้เร่งอนุมัติโครงการก่อสร้างภาครัฐใหม่ คาดว่าอัตราเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้รัฐบาลรักษาการและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่จะต่ำลงบ้าง และ พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2567 จะประกาศใช้ล่าช้าไม่เกิน 3 เดือน แต่หากมีความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลให้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ประกาศใช้ล่าช้ากว่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงปีนี้และปีหน้าได้ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ