นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าจะศึกษาการจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยในการเดินเรือแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ใน จ.พระนครศรีอยุธยา พิจารณาจากแผนยุทธศาสตร์และแผนงานที่สำคัญทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล แผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม แผนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ของประเทศ รวมถึงพัฒนาท้องถิ่น และนำมาพิจารณาประกอบการกับข้อมูลสถิติอุบัติเหตุและความเสี่ยงในการคมนาคมทางน้ำในพื้นที่ นำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยการคมนาคมทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ที่สอดคล้องกับแผนงานต่างๆ ที่สำคัญของประเทศต่อไป 

สำหรับแผนการพัฒนาประสิทธิภาพการเดินเรือในแม่น้ำป่าสัก ได้มีแผนพัฒนาให้เรือขนาด 2,500 ตัน สามารถเดินทางเข้า-ออกได้โดยสะดวก ตามแผนพัฒนาจะต้องทำการขุดลอกร่องน้ำทางเรือเดินลึก 4-6 เมตร และก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อป้องกันการพังทลายของตลิ่งจากการขุดลอก ทั้งสิ้นจำนวน 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 (3 ตอน (จุดที่วิกฤติ)) ระยะที่ 2 (11 ตอน (กม.0-กม.23)) ความยาวรวม 29 กม. แผนดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 66 ช่วยเพิ่มศักยภาพการขนส่งให้ได้มากถึง 64 ล้านตัน  

ในระยะที่ 1 (3 ตอน) กรมเจ้าท่าได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 58-62 เป็นวงเงินรวม 2,060 ล้านบาท (รวมค่าควบคุมงาน) ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนฯ ความยาว 8.48 กม. ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ ก.ย.62 และระยะที่ 2 (8 ตอน) วงเงิน 4,794.9136 ล้านบาท ซึ่งกรมฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณ (ค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงาน) สำหรับการพัฒนาระยะที่ 2 ตอนที่ 1 ปี 63-66 วงเงินที่ได้รับจัดสรรรวมเป็น 505.2736 ล้านบาท  

และตอนที่ 2 ปี 64-66 วงเงินที่ได้รับจัดสรรรวมจำนวน 575.0200 ล้านบาท และได้ขอตั้งงบประมาณปี 65 เพื่อดำเนินการระยะที่ 2 ตอนที่ 3-8 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้รับการจัดสรรวงเงินงบประมาณ โดยกรมเจ้าท่าจะขอรับจัดสรรงบประมาณปี 66 วงเงินรวม 742.924 ล้านบาท การดำเนินงานต่อเนื่อง 3 ปี วงเงินรวมทั้งโครงการ 3,714.62 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 66 จำนวน 742.924 ล้านบาท, ปี 67 จำนวน 1,485.848 ล้านบาท และ ปี 68 จำนวน 1,485.848 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามแผนพัฒนาประสิทธิภาพการเดินเรือในแม่น้ำป่าสักต่อไป  

ส่วนความคืบหน้าผลการดำเนินงานที่แม่น้ำป่าสัก ระยะที่ 2 ตอนที่ 1 และตอนที่ 2 กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะต้องวิเคราะห์ปัญหาความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำพร้อมกำหนดแผนงานมาตรฐานต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือในการด้านการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลในการลดอุบัติเหตุอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป 

สำหรับการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักใน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ที่สำคัญของประเทศ มีเส้นทางระหว่างจุดบรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ใน อ.พระนครศรีอยุธยา แบ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านเหนือตั้งแต่ อ.บางบาล ไปจนถึงด้านใต้ที่ อ.บางไทร ขณะที่แม่น้ำป่าสักเริ่มตั้งแต่หน้าวัดพนัญเชิงวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงเขื่อนพระราม 6 อ.ท่าเรือ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเดินเรือในลำน้ำหนาแน่นที่สุดของประเทศไทย

ทั้งนี้ได้มีการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าว น้ำตาล วัสดุก่อสร้าง รวมถึงสินค้าที่อาจเป็นอันตรายในการขนส่ง เช่น เชื้อเพลิง ถ่านหิน และปุ๋ย ซึ่งปริมาณการขนส่งสินค้าในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักมีปริมาณมากถึงกว่า 40 ล้านตันต่อปี ระหว่างต้นทางและปลายทางสินค้า ซึ่งอยู่ในหลายจังหวัดในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคตะวันตกของประเทศ และท่าเรือชายฝั่งเรือเดินทะเลบริเวณเกาะสีชัง เพื่อไปยังต่างประเทศต่อไป 

โดยปริมาณการจราจรในลำน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความคับคั่ง ของจราจรในหลายพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแม่น้ำเจ้าพระบริเวณ อ.บางไทร อ.บางปะอิน อ.บางบาล อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีท่าเรือขนถ่ายสินค้าจำนวนมาก และแม่น้ำป่าสัก ซึ่งมีลักษณะคดเคี้ยวและมีข้อจำกัด จากช่องลอดใต้สะพานและตอม่อหลายแห่ง ดังนั้นเพื่อพัฒนาความปลอดภัยการขนส่งในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักใน จ.พระนครศรีอยุธยา รองรับต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการคมนาคมขนส่งของประเทศในอนาคต