เมื่อวันที่ 13 มี.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ นำป้ายข้อมูลมาแสดงพร้อมแถลงต่อสื่อมวลชน กรณีการติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดี ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทรงเอ เนื่องจากสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ กองบังคับการปราบปรามยาเสพติด 3 ดำเนินคดีของ ทุน มิน ลัต ที่ปรากฏข้อมูลชื่อ ส.ว.รายดังกล่าวเข้าไปพัวพันจนนำไปสู่การออกหมายจับ 2 ข้อหา คือ สมคบยาเสพติดฯ และฟอกเงินคดีนอกราชอาณาจักร และพบว่า มีการถอนหมายจับเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565

ยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติด ‘ทุน มิน ลัต’ รีสอร์ท โรงแรมหรูกว่า 1.8 พันล้าน

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตั้งใจมาที่นี่ไม่ใช่เพื่อยื่นหนังสือ หรือมาร้องเรียนการทำงานของตำรวจ แต่ต้องการชี้แจง เพื่อต้องการคำตอบว่าเหตุใดการทำคดีของ ส.ว.รายนี้มีความล่าช้า เนื่องจากมีการถอนหมายจับไปเป็นเวลากว่า 162 วันแล้ว และเข้าใจว่า ช่วงประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถออกหมายเรียกได้ แต่หลังประชุมเสร็จกลับไม่มีการดำเนินการใด ๆ ทั้งสิ้น แม้แต่หมายเรียกที่เป็นขั้นพื้นฐานของตำรวจในการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำ ส่วนตัวมองว่า กระบวนการของคดีนี้อาจมีการแทรกแซงหรือช่วยเหลือจาก พล.ต.อ.นอกราชการระดับสูง ชื่อย่อ ส. ที่เข้ามาพยายามช่วยเหลือพร้อมให้คำแนะนำเรื่องรูปคดี เนื่องจากโทษของพฤติการณ์ดังกล่าวสูงถึงขั้นประหารชีวิต เพราะผู้ถูกกล่าวหามีตำแหน่งหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา มีโทษสูงกว่าประชาชน 2-3 เท่า

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ก่อนมาที่นี่ตนได้ไปยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา และมีหนังสือตอบกลับมาให้กับตน เป็นลายเซ็นของ ผบ.ตร.แล้ว ส่วนกรณีที่ตำรวจชุดจับกุมคดี ทุน มิน ลัต ที่ถูกโยกย้ายจนทำให้คดีไม่มีความคืบหน้า เพราะต้องเสียตำรวจน้ำดีไปปฏิบัติราชการพื้นที่อื่น การโยกย้ายข้าราชการเหล่านี้ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องมีส่วนรับผิดชอบโดยตรง เพราะมีฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด อีกทั้งมีข้อมูลว่า ส.ว. คนดังกล่าวที่ปรากฏในคดีเดียวกันนี้ เชื่อมโยงกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะที่ทำการพรรคปัจจุบัน มีการเช่าพื้นที่ของ ส.ว. เปิดเป็นสำนักงาน

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนตัวไม่ได้มองว่าการทำหน้าที่ของตำรวจมีความบกพร่องในคดีทุน มิน ลัต ซึ่งเป็นสำนวนคดีแรกที่ตำรวจปฏิบัติได้อย่างถูกต้องแล้ว แต่สงสัยว่าทำไมถึงมีการถอนหมายจับชั้นตุลาการ ในส่วนนี้อาจมีการแทรกแซงของพนักงานสอบสวนหรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าว ตนเคยยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมแล้ว ส่วนสำนวนคดีที่ 2 ขณะนี้ที่อยู่กับ บช.ปส. ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบออกหมายเรียกหรือหมายจับ พบว่าติดขัด ทั้งที่หลักฐานอยู่ในสำนวนคดีแรกอย่างชัดเจนอยู่แล้ว เรื่องเส้นทางการเงินจากบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป จำกัด มีความเชื่อมโยงไปยัง ส.ว.รายนี้ แต่กลับมีการอ้างว่าต้องแปลภาษาต่างประเทศจากบทสนทนาระหว่างผู้ต้องหากับผู้ถูกกล่าวหาจำนวนมาก คดีจึงไม่มีความคืบหน้า

นายรังสิมันต์ ยอมรับว่า ติดใจกับการดำเนินการของ บช.ปส. อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าจะเดินทางไปยื่นเรื่องที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เอาผิดตุลาการทั้ง 3 ท่าน เรื่องมีการถอนหมายจับทันทีหลังช่วงเช้าออกหมายจับ ด้วยเหตุผลอ้างว่าเป็นบุคคลสำคัญ ซึ่งตามกฎหมายไม่มี

จากนั้น นายรังสิมันต์ ได้เปิดป้ายข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีทุน มิน ลัต ส.ว.ทรงเอ ประกอบด้วย ขบวนการค้ายา ฟอกเงินข้ามชายแดนไทยเมียนมาร์ และข้อมูลการทำธุรกิจชายแดนที่ทำผ่าน ส.ว. นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ นำป้ายหาเสียง 2 แผ่นมาแสดง พร้อมกล่าวว่า วันนี้ที่ตนนำมามี 2 ป้าย ระบุข้อความว่า นักการเมืองขายยาจะหมดไปได้ด้วยก้าวไกลเป็นรัฐบาล ทั้งนี้ ตนไม่ได้ตั้งใจจะมาหาเสียง แต่ที่นำมาสองป้ายนี้ก็เพื่อจะมาติดที่หน่วยงาน และหวังว่าเนื้อหาดังกล่าวจะสามารถใช้ป้ายนี้เป็นป้ายเตือนใจว่าจะทำคดีเรื่องนี้ให้อย่างดีที่สุด ส่วนตัวขณะนี้ที่อายุ 30 ปี รู้สึกกลัวที่จะถูกฟ้องกลับหลังออกมาเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ

นายรังสิมันต์ กล่าวว่า วันนี้ตนในฐานะผู้แทนประชาชนอยู่ในหน้าที่ที่จะต้องตรวจสอบเอาเรื่องพวกนี้มาแฉ เพราะถ้าไม่นำมาเปิดเผยสังคมจะไม่รับรู้ ขอพูดกับตำรวจทุกท่าน ถ้าปิดบังช่วยกันล้มคดี พวกท่านก็ไม่ต่างอะไรกับคนชั่วคนที่ค้ายา ส่วนที่มาเปิดเผยตอนนี้เพราะข้อมูลทั้งหมดพร้อมตอนนี้ หากมองว่าเป็นการดิสเครดิต ก็ขอให้ออกมาตอบโต้ให้ข้อมูลว่าของตนส่วนไหนไม่ถูกต้องบ้าง ถ้ามีสัญญาเช่าอาคาร สำนักงาน ก็ให้แสดง เปิดเผยให้สังคมรับรู้ต่อไป.