นายคริส คอนเนลล์ กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แคสเปอร์สกี้ ผู้ให้บริการ ด้านความปลอดภัย ทางไซเบอร์ระดับโลก เปิดเผยว่า รายงานเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ประจำปี 65 สำหรับประเทศไทย แคสเปอร์สกี้ ได้ตรวจพบและบล็อกภัยคุกคามทางเว็บต่าง ๆ จำนวน 17.3 ล้านรายการ ที่กำหนดเป้าหมายโจมตีผู้ใช้ในประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าปี 64 จำนวน 0.46% ที่ตรวจพบ 17.2 ล้านรายการคิดเป็นผู้ใช้ชาวไทยจำนวน 29.1% ที่จะถูกโจมตี จากภัยคุกคามทางออนไลน์ ทำให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 109 ของโลก
ส่วนตัวเลขการตรวจจับภัยคุกคาม ออฟไลน์นั้นลดลง โดย แคสเปอร์สกี้สามารถตรวจพบเหตุการณ์โจมตี แบบออฟไลน์จำนวน 21,339,342 รายการซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วถึง 35.74% ที่สามารถตรวจพบ 33,205,557 รายการ โดยรวมแล้วผู้ใช้ในประเทศไทยจำนวน 35.1% เกือบถูกโจมตี จากภัยคุกคามออฟไลน์ โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 85 ของโลก
“การโจมตีผ่านเว็บเบราว์เซอร์เป็นวิธีการหลักในการแพร่กระจายโปรแกรมที่เป็นอันตราย การใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ ในเบราว์เซอร์และปลั๊กอิน รวมถึงวิศวกรรมสังคมเป็นวิธีที่อาชญากรไซเบอร์ใช้ในการเจาะระบบโดยทั่วไปมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว เวิร์มและไฟล์ไวรัสเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในเครื่องข้อมูลนี้แสดงให้เห็นถึงความถี่ที่ผู้ใช้ถูกโจมตี โดยมัลแวร์ที่แพร่กระจายผ่านไดรฟ์ ยูเอสบี แบบถอดได้ ซีดี ดีวีดี และวิธีการออฟไลน์อื่น ๆ”
นายคริส กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ทางการเงินที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ ปัญหาจากแอปพลิเคชันที่ดึงเงินจากโทรศัพท์ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบการร้องเรียนและแจ้งความเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติสูงถึง 163,091 รายการ สร้างความเสียหายประมาณ 27,300 ล้านบาท โดยการร้องเรียน ที่พบบ่อยที่สุดคือ การขายของออนไลน์ฉ้อโกง การหลอกลวงให้โอนเงินจากที่ทำงาน เงินกู้ปลอม กลโกงการลงทุนและการหลอกลวงทางคอลเซ็นเตอร์
สำหรับการหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงทางออนไลน์ คือ ระวังการขอรายละเอียดหรือขอเงินการหลอกลวงแบบฟิชชิง หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์ หรือเปิดไฟล์แนบในอีเมล หรือข้อความที่น่าสงสัย และอย่าตอบรับโทรศัพท์ที่ขอ การเข้าถึง ระยะไกลไปยังคอมพิวเตอร์ และตั้งรหัสที่รัดกุม ที่ทำให้คาดเดาได้ยาก รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะหรือ ไว-ไฟ ฮอตสปอต สาธารณะ ฯลฯ
“ในปี 65 จำนวนความพยายามโจมตีในประเทศไทยโดยรวมมีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง ซึ่งจำนวนที่ลดลงไม่ได้บ่งชี้ว่า ปลอดภัยมากขึ้นและควรผ่อนคลายการป้องกัน แต่เมื่อพิจารณาว่าภาพรวมของภัยคุกคามขยายตัวอย่างรวดเร็วเพียงใด และจำนวนอุปกรณ์ใหม่ ๆ ในชีวิตประจำวันของผู้ใช้ที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นไปได้ที่จะพบไฟล์อันตรายและภัยคุกคาม ที่เป็นอันตรายมากขึ้นต่อวัน จึงต้องพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อปกป้องคนไทยจากภัยคุกคาม จากความสูญเสียต่าง ๆ”