ทำเอาชาวเน็ตแห่ไปให้กำลังใจกันยกใหญ่ หลังล่าสุดนักแสดงและหมอคนดัง หมอริท เรืองฤทธิ์ ได้ออกมาระบายผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวเป็นข้อๆ เกี่ยวกับเรื่องการช่วยโควิดของตนเองที่ช่วยทางรัฐบาลแจกจ่ายยาให้ผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้าน โดยหมอริทเล่าความรู้สึกตัวเองเป็นข้อๆ ดังนี้

โดยหนุ่มริทเล่าว่า “เริ่มนะครับ 1.#หมอริทช่วยโควิด เป็นโครงการอาสา ไม่ได้รับเงินการทำงานจากรัฐเลย โดยเรายินดีช่วยรัฐโดยไม่เรียกร้องเงิน แต่เรียกร้องให้รัฐดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง ซึ่งระหว่างที่ท่านเพิ่มกำลังการดูแล เรายินดีช่วยครับ เมื่อไหร่ที่ท่านดูแลทั่วถึง เราจะหยุดครับ”

“2.ข้อมูล ณ 18/8/64 #หมอริทช่วยโควิด รับเคสใหม่ได้เฉลี่ย 200 เคส/หน่วย/วัน แต่หน่วยงานภายใต้รัฐใน กทม. รับเคสใหม่ได้ 9 เคส/หน่วย/วัน (รวม 240 PCU = 2,000 เคสต่อวัน) ซึ่งยังน้อยกว่าจำนวนเคสรายงานใหม่ต่อวัน โดยมองว่า ถ้าลดการทำงานที่ไม่จำเป็นบางอย่างลง จะทำให้รับเคสได้มากขึ้น?”

“3.แต่โดยรวมแล้ว ภาคประชาสังคม/จิตอาสา (ไม่ใช่เฉพาะ #หมอริทช่วยโควิด) ได้เข้ามามีส่วนช่วยสำคัญให้ประเทศไทยผ่านวิกฤติโควิดนี้ไปได้ (ซึ่งท่านทราบสัดส่วนตัวเลขการดูแลเคสอยู่แล้ว ประมาณเกือบครึ่งต่อครึ่ง จริงหรือไม่?)”

“4.คนไข้ที่ติดต่อผ่านช่องทางของรัฐ ต้องรอการรักษาที่ค่อนข้างนาน ตั้งแต่ 3 วัน – 14 วัน หรือ จนหายแล้ว จริงหรือไม่? (คนที่พบปัญหานี้ สามารถมาช่วยยืนยันได้)”

“5.รัฐมีหน่วยจ่ายยาฟาวิ โดยจ่ายเป็นคอร์ส 3-5 วัน แล้วไม่ดูแลเคสต่อให้ครบ 14 วัน สุดท้ายคนไข้ตกเป็นภาระของใคร? ที่แน่ๆส่วนนึงก็มา #หมอริทช่วยโควิด แล้วทำเพื่ออะไร? เข้าถึงเคสได้ทั้งทีก็ทำให้จบกระบวนการเลยไหม? ใช้งบประมาณอย่างไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่?”

“6.ATK บอกว่าให้เข้าระบบ HI ได้ แต่ถ้าอาการแย่ลง แล้วต้องการเตียง ท่านก็บอกว่าเข้า รพ. ได้เลย แต่ในความเป็นจริง รพ. ไหนรับบ้าง? สุดท้ายก็รอ PCR กันหมดไหม? จะตายแล้วยังรอ PCR? เพราะ รพ. เขามีปัญหาการเบิกไหม? ขอคำสั่งเด็ดขาดและชัดเจนเลยได้ไหม?”

“7.ดูแลคนไข้ช่วยเหลือกันกับภาครัฐ ท่านมีฐานข้อมูลให้เช็คการดูแลซ้ำซ้อนไหม? ตรงนี้สำคัญนะ ภาษีประชาชนทั้งนั้นนะครับ 1 คนไข้ ต่อ 1 การดูแลก็พอแล้ว”

“8.ระบบจัดหาเตียงอยู่ไหน? ทีมอาสามีแพทย์มาช่วยดูแล HI ให้แล้ว ประเมินความเสี่ยงให้แล้ว พออาการแย่ลง ต้องการเตียง แล้วยังไง ให้ส่งทางไหน ไปที่ไหน? หน่วยงานไหนรับช่วงต่อ? เบอร์กลางของท่านโทรติดจริงๆหรือไม่?”

“9.เรื่องเตียง ก็ไม่เพียงพอ อันนี้เข้าใจ รัฐกำลังขยายเพิ่มเตียงอยู่ ก็ต้องจัดคนไข้ไปเอาเตียงตามความรุนแรง เลยต้องให้ออกซิเจนที่บ้านไปก่อน แล้วหน่วยงานไหนดูแลเรื่องออกซิเจนที่บ้าน? ตอนนี้มีแต่ขอความช่วยเหลือจากทีมอาสาด้วยกัน”

“10.การประชาสัมพันธ์ ความรู้ ความเข้าใจ เพียงพอไหม? – กักตัวครบ 14 วัน ไม่ต้องตรวจซ้ำ ไปทำงานได้เลย – คนไข้ไม่ต้อง xrays ปอดทุกคน – ยาฟาวิ ทานตามข้อบ่งชี้ ไม่ต้องทานทุกคนก็หายได้ เป็นต้น”

“11.ภาคแรงงาน นายจ้าง ยังต้องการใบรับรองแพทย์เสมอ มีระบบให้ไหม? เอา ATK/PCR กับชื่อหน่วยงานที่ดูแลไปออกใบรับรองเลยได้ไหม? แค่หมอมาช่วยตรวจยังไม่พอ ยังต้องแบ่งหมอช่วยเขียนใบรับรองแพทย์อีก มันจะทันไหม?”

“12.ตอนนี้ ภาคประชาสังคม/อาสา สร้างเครือข่ายกันเอง หาเตียง หาออกซิเจน หา PCR หา x-rays หายา หาอาหาร เค้าทำกันเรียบร้อยแล้ว มาดู แล้วขอบคุณและให้เครดิตเค้าก็พอ”

“13.โควิดครั้งนี้ มันคือวิกฤติ ทุกคนเข้าใจ วันที่รัฐรับมือไม่ไหว ประชาชนพร้อมช่วย แค่ยอมรับในกำลังความสามารถ แล้วช่วยกัน ไม่ต้องอาย ขอบคุณครับ ปล. ยังไม่รวมเรื่องการจัดการระยะยาว เช่น วัคซีนนะครับ ซึ่งสุดท้ายมันก็คือเรื่องเดียวกัน”

พอหมอริททวีตข้อความจบ ก็มีชาวเน็ตมารีทวิตพร้อมแสดงความคิดเห็นถึงการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาเรื่องโควิดของรัฐบาลอย่างดุเดือด พร้อมบอกว่ารัฐควรทำอะไรบ้างจะดีกว่า

ขอขอบคุณภาพประกอบจากทวิตเตอร์ MhorRitz