เมื่อวันที่ 10 มี.ค. พ.ต.อ.ชณพล วันขวัญ รอง ผบก.รน. เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีกลุ่มผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามธรรมชาติ ในพื้นที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่านทาง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ให้ปราบปรามการทำประมงด้วยการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายจำพวกลอบพับได้ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ไอ้โง่ ไปวางตามลำน้ำและร่องน้ำ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถถักจับสัตว์น้ำทุกประเภทรวมถึงตัวอ่อนของสัตว์น้ำจนไม่สามารถเหลือรอดให้กลุ่มผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามธรรมชาตินำไปเพาะเลี้ยงได้อีก ซึ่งหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผู้บังคับการตำรวจน้ำได้สั่งการให้ บก.รน.6 ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่อ่าวไทย เข้าสืบสวนสวนจำกุมโดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
โดยจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พ.ต.ท.ชยพล โตโส สว.ส. รน.5 กก.6 บก.รน. (ตำรวจน้ำปากพนัง) พบว่า มีการลักลอบสืบสวนหาข่าวพบว่า มีกลุ่มบุคคลผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการใช้อุปกรณ์ทำการประมงผิดกฎหมายในพื้นที่จริง จึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ ประมงอำเภอปากพนัง ตำรวจภูธรปากพนัง และชุดประมงอาสาในพื้นที่ ดำเนินการกวาดล้างจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง ห้วงเวลาระหว่างวันที่ 20-28 กุมภาพันธ์ ได้ผู้ต้องหา 1 คน ตรวจยึดลอบพับ หรือไอ้โง่ 222 ลูก เรือหางยาวเครื่องยนต์ติดท้าย 1 ลำ
พ.ต.ท. ชยพล โตโส สว.ส. รน.5 กก.6 บก.รน (ตำรวจน้ำปากพนัง) กล่าวว่า ระหว่างปฏิบัติการกวาดล้างของเจ้าหน้าที่ พบว่า การใช้ลอบพับ หรือที่ชาวบ้านให้ฉายาว่า ไอ้โง่ นั้น มาจากลักษณะโครงสร้างของอุปกรณ์ที่มีการนำกระชัง หรือลอบโครงเหล็กทั้งแบบกลมและแบบเหลี่ยมด้านข้างมีทางเข้าของสัตว์น้ำสลับกันไปมาทั้งซ้ายขวามีความยาวรวมไม่น้อยกว่า 8 เมตร หรือมากกว่า เมื่อพับเข้าหากันสามารถนำไปใช้งานสะดวก ส่วนวิธีการผู้ใช้จะนำไปวางตามกระแสน้ำไหลขึ้นลงตามธรรมชาติ เพื่อเป็นการดักทางเดินของสัตว์น้ำตามกระแสน้ำ ทำให้เหล่าสัตว์น้ำต้องหลงเข้าไปในลอบแทบทุกตัว และจะไม่สามารถเล็ดลอดออกมาได้ และภาพที่เราเห็นคือบรรดาสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ยังเป็นตัวอ่อนจำนวนมากต้องตายเน่าคาลอบพับโดยไม่สามารถนำไปทำประโยชน์อะไรได้เลย และมีเป็นจำนวนมากกว่าสัตว์น้ำที่นำไปใช้ประโยชน์ได้เสียอีก
“ในการสืบสวนจับกุมและกวาดล้างของตำรวจน้ำในห้วงวันที่ 20-28 กุมภาพันธ์ นอกเหนือจากการตรวจยึดอุปกรณ์ประมงผิดกฎหมายแล้วตำรวจน้ำยังประสานความร่วมมือกับประมงอำเภอและประมงอาสาในพื้นที่สืบสวนหาตัวผู้สนับสนุนให้มีผู้ใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายทั้งในกลุ่มของนายทุนลอบพับเอง และนายทุนรับซื้อสัตว์น้ำที่ได้จากการประมงด้วยเครื่องมือลอบพับ ซึ่งขณะนี้เราพบผู้กระทำผิดกลุ่มนี้ในพื้นที่ อ.เมืองนครศรีธรรมราช แล้ว 6 ราย โดยวันที่ 26 ก.พ. 66 สืบสวนหาข่าวผู้รับซื้อสัตว์น้ำที่คาดว่าได้มาจากการทำประมงผิดกฎหมายเบื้องต้นมี 6 ราย โดยได้มีการเชิญมาชี้แจงเหตุผล ผลกระทบจากการใช้เครื่องมือทำการประมงผิดกฎหมาย และให้มีการคัดกรองสอบถามชาวประมงที่มาขายเพื่อให้ทราบถึงที่มาของสัตว์น้ำ หากได้มาจากการใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย ผู้รับซื้อก็จะมีความผิดฐานเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำความผิด” พ.ต.ท. ชยพล กล่าว