กลายเป็นดราม่าเดือดในวงการหนัง เมื่อ “หุ่นพยนต์” ภาพยนตร์สยองขวัญ จากค่าย “ ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น” ที่เดิมมีกำหนดเข้าฉาย ในวันที่ 9 มี.ค.นี้ จำเป็นต้องเลื่อนวันฉายออกไปไม่มีกำหนดอย่างกะทันหัน เนื่องจากผู้สร้างต้องการนำไปตัดต่อปรับปรุงใหม่ หลังจากที่ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม  ได้จัดเรตระดับความรุนแรงที่สูงถึง ฉ.20  คือไม่อนุญาตให้ผู้ชมอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าชม รวมทั้งต้องมีการตรวจบัตรประชาชนที่หน้าโรงภาพยนตร์  เรียกเสียงวิจารณ์อย่างร้อนแรง

ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่วงการหนังไทยโดนแบนด้วยเหตุผลสุดแสนจะอ่อนไหว โดยนับแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน มีหนังไทยหลายเรื่องโดน “การเซ็นเซอร์” จนบางครั้งหลายคนมองว่าเป็นการปิดกั้นเสรีภาพ ไปจนถึงปิดหูปิดตาประชาชนหรือไม่ รวมทั้งยังเป็นการลดทอนคุณค่าและความงดงามของศิลปะภาพยนตร์อย่างที่ควรจะเป็น และอาจทำลายอุตสาหกรรมหนังไทย  ซึ่งหนังบางเรื่องก็เลือกปรับเปลี่ยน ตัดส่วนน้อย เพื่อให้หนังได้ไปต่อ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนชื่อ ตัดฉาก แต่บางคนก็สู้ไม่ถอยด้วยการยื่นเรื่องร้องเรียน ไปจนถึงยอมหักไม่ยอมงอ ด้วยการไม่ขอตัดฉากใด ๆ และไม่เข้าฉายก็มี วันนี้ “บันเทิงเดลินิวส์” ขอพาไปย้อนรอยดู 15 หนังดังที่โดน “เซ็นเซอร์” นับแต่ปี 2519 กัน!

“ทองปาน (Tongpan)” (2519)

ภาพยนตร์กึ่งสารคดีสะท้อนวิถีชาวนา ผลงานผู้กำกับ ไพจง ไหลสกุล , สุรชัย จันทิมาธร , ยุทธนา มุกดาสนิท และ รัศมี เผ่าเหลืองทอง โดยได้เล่าถึงชีวิตพี่น้องชาวนาชายขอบแถบภาคอีสาน ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนยักษ์กั้นแม่น้ำโขง ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดทางภาคอีสาน และบางส่วนของประเทศลาว  จมอยู่ใต้น้ำ โดย ณ ตอนนั้น ทั้งทีมงานและนักแสดงถูกยัดข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ จนทำให้หนังถูกห้ามฉายในประเทศไทยอยู่นาน โดยเฉพาะช่วงใกล้เคียงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่ง “ทองปาน”  ได้ฉายครั้งแรกใน “เทศกาลภาพยนตร์ลอนดอน (London Film Festival)” และด้วยเนื้อหาที่เข้มข้น สะท้อนชีวิตจริง จึงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไปคว้ารางวัล “Outstanding Film of Southeast Asia” ไปครอง ก่อนที่เข้ามาฉายในประเทศไทยครั้งแรก ที่สถาบันเกอเธ่ บ้านพระอาทิตย์ และที่สยามสมาคม ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2520

เรื่องย่อ : นักศึกษาคนหนึ่งเดินทางเข้ามาที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ติดชายแดนไทย-ลาว ซึ่งกำลังจะมีการสร้าง “เขื่อนผามอง” เขื่อนยักษ์กั้นแม่น้ำโขง เขากำลังจะไป อ.ปากชม เพื่อตามหาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน และได้พบกับคนถีบสามล้อรับจ้าง ชื่อ “ทองปาน” (องอาจ มณีวรรณ) ซึ่งเคยมีที่นาอยู่ที่ จ.กาฬสินธุ์ เมื่อมีการสร้างเขื่อนลำปาวกั้นลำน้ำปาว ที่นาของเขาไม่ได้ถูกเวนคืนเหมือนเพื่อนบ้าน แต่ตั้งอยู่ใต้เขื่อน นาของเขาล่ม เพราะขาดน้ำในหน้าแล้ง และน้ำท่วมในหน้าฝน ทางการให้เหตุผลว่าเขื่อนสร้างมาราคาแพงมาก ต้องรักษาไว้ให้ดี โดยคงระดับน้ำให้เหมาะสม ซึ่ง “ทองปาน” ยอมรับผลกระทบ จนในที่สุดเขาได้พาลูกเมีย ย้ายไปรับจ้างในโรงเลื่อยฝั่งลาว แต่ไม่นานก็ต้องเลิกหลังเกิดรัฐประหาร รัฐบาลใหม่ของลาวสั่งห้ามการตัดไม้  “ทองปาน” หันไปเป็นกรรมกรสร้างสนามบินที่โคราช , รับจ้างเลี้ยงไก่ ก่อนเปลี่ยนไปเป็นนักมวย และมาถีบรถรับจ้างใน อ.เชียงคานในที่สุด ต่อมามีการจัดสัมมนา ที่มีทั้งนักวิชาการ ตัวแทนจากธนาคารโลก แพทย์ นักอนุรักษ์ฝ่ายต่อต้านเขื่อน นายอำเภอท้องที่ ต่างอภิปรายข้อดีข้อเสียของเขื่อน ว่าสร้างขึ้นโดยการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่จากส่วนกลาง โดยไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบ หรือถามความเห็นจากคนในพื้นที่เลย ซึ่งมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วมด้วย แต่เมื่อคราวที่ “ทองปาน” จะต้องพูด ปรากฏว่าเขาหายไป เนื่องจาก “ทองปาน” เป็นห่วงเมียที่เป็นวัณโรค จึงหลบกลับมาก่อนและพบว่าเมียตายเสียแล้ว ทั้งนี้ตอนจบของเรื่อง “ทองปาน” ได้หายสาบสูญในเหตุวุ่นวายทางการเมือง

“คนกราบหมา” (My Teacher Eats Biscuits)” (2540)

ภาพยนตร์ตลกร้ายแนวทดลอง เขียนบทและกำกับโดย สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ อิ๋ง เค นำแสดงโดย กฤษดา สุโกศล และ ธาริณี เกรแฮม ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 ม.ม. โดยใช้ทุนส่วนตัว กับเรื่องราวที่ว่าด้วยลัทธิประหลาด ผู้คนพากันกราบไหว้หมา ซึ่งภาพยนตร์มีกำหนดฉายครั้งแรกใน “เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ ครั้งที่ 1 (Bangkok Film Festival)” ปี พ.ศ. 2540 โดยก่อนงานเปิดเทศกาลภาพยนตร์ มีผู้ส่งโทรสารร้องเรียนไปที่ “กองเซ็นเซอร์ภาพยนตร์” ว่าบทภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เหมาะสม และดูหมิ่นศาสนาพุทธ ด้านกองเซ็นเซอร์ภาพยนตร์เข้ามาตรวจสอบแล้วไม่อนุญาตให้ฉาย ซึ่งต่อมา “คนกราบหมา” ได้ไปฉายใน “เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่ ฮาวาย ลอสแอนเจลิส นิวยอร์ก” แต่ไม่มีโอกาสได้ฉายในเมืองไทย ยกเว้นการฉายเป็นการภายใน เพียงรอบเดียวที่สถาบันเกอเธ่

“อาจารย์ใหญ่” เปลี่ยนชื่อเป็น “ศพ” (2549)

ภาพยนตร์สยองขวัญ ผลงานผู้กำกับมากฝีมือ ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล ที่เล่าเรื่องราวสุดหลอนผู้ที่บริจาคร่างกาย เพื่ออุทิศให้การศึกษาทางการแพทย์ ที่นักศึกษาแพทย์ให้ความเคารพในฐานะ “อาจารย์ใหญ่” ต่อมาเกิดข้อเรียกร้องมากมายจากคณาจารย์และนักศึกษาแพทย์ ที่มีความเห็นว่าเนื้อหาในภาพยนตร์นั้นลบหลู่และไม่ให้ความเคารพต่ออาชีพแพทย์  ซึ่งในหนังเป็นเรื่องราวของ “ผีอาจารย์ใหญ์” ที่เที่ยวหลอกหลอนและฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของอาจารย์ใหญ่อย่างรุนแรง โดยอาจส่งผลกระทบให้คนดูเข้าใจผิด  เกรงว่าจะทำให้ประชาชนกลัวและไม่กล้าที่จะบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษาแบบนี้  อีกทั้งยังสร้างความสะเทือนใจทั้งแก่ผู้ที่แสดงเจตจำนงในการบริจาคร่างกาย และนักศึกษาแพทย์ที่ต้องศึกษาเกี่ยวกับอวัยวะจากร่างกายของอาจารย์ใหญ่ จนเกิดเป็นกระแสเรียกร้องให้แก้ไขภาพยนตร์  ในที่สุด “อาจารย์ใหญ่” ได้รับการพิจารณาจากกองเซ็นเซอร์และลงมติว่าต้องเปลี่ยนชื่อเรื่อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อสถาบันแพทย์ หรือผู้ต้องการบริจาคร่างกายเพื่อเป็นอาจารย์ใหญ่ โดยทาง สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงได้เปลี่ยนชื่อ จาก “อาจารย์ใหญ่” มาเป็น “ศพ” แทน

เรื่องย่อ : ว่าด้วยนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 กับเรื่องราวของผู้บริจาคร่างกายที่ทุกคนต่างให้ความเคารพ ในฐานะ “อาจารย์ใหญ่”  ครูผู้บริจาคร่างกายเป็นวิทยาทานเพื่อให้กับนักศึกษาแพทย์ทุกคนได้เรียนรู้ถึงความซับซ้อนภายในร่างกายมนุษย์ และนำความรู้ที่ได้จากร่างอาจารย์ไปเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับอาจารย์ใหญ่ แต่สำหรับ “ไหม” (รัน ณัทธมนกาญจน์ ศรีนิกรโชติ) แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นประสบการณ์จริงที่ชวนขนลุก ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างที่เธอเข้าเรียนชั่วโมงแรกของวิชากายวิภาคศาสตร์ เมื่อจู่ ๆ ร่างของอาจารย์ใหญ่ที่นอนสงบนิ่งก็เงื้อมมือขึ้นมาบีบคอเธอ เหตุการณ์ต่อจากนั้นได้สร้างความหวาดผวามากยิ่งขึ้น เมื่อเธอรู้สึกว่ามีวิญญาณของผู้หญิงที่ไม่รู้จัก คอยติดตามเธอไปในทุกที่ ตั้งแต่ชั้นเรียน ห้องน้ำ มุมมืดในห้องพัก รวมทั้งข้างตัวเธอบนเตียงนอนที่บ้าน ในท่ามกลางความสับสน และสถานการณ์ที่กำลังเลวร้ายลง “อาจารย์นายแพทย์ประกิต” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) ดูเหมือนจะเป็นคนเดียวที่ห่วงใย “ไหม” และตัดสินใจยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือลูกศิษย์คนนี้ “ไหม” เริ่มตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน นั่นคือการค้นหาที่มาของอาจารย์ใหญ่ แต่ดูเหมือนยิ่งสาวยิ่งลึก และมีบางสิ่งที่ซับซ้อนเกี่ยวพันถึงผู้หญิงที่ชื่อ “ดาหวัน” กับร่างของอาจารย์ใหญ่ตรงหน้าเธอ ความจริงในด้านมืดที่ชวนขนลุก และเหตุการณ์ที่เลวร้ายในอดีตกลับมาหลอกหลอนเธอขึ้นอีกครั้ง!

 “หมากเตะโลกตะลึง” เปลี่ยนชื่อเป็น  “หมากเตะรีเทิร์น” (2549)

ภาพยนตร์คอเมดี้ จากค่ายอารมณ์ดี “GTH”  ผลงานผู้กำกับ ปิ๊ง – อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ที่เล่าเรื่องทีมฟุตบอลในประเทศลาว ซึ่งมีความฝันจะไปแข่งขันในระดับโลก งานนี้ทำให้หลายฝ่ายมองว่าอาจทำให้พี่น้องชาวลาวไม่พอใจ เพราะทีมผู้สร้างไทยแต่กลับไปเล่าเรื่องประเทศลาว โดยมองว่าเป็นประเด็นละเอียดอ่อนระดับประเทศ  จึงสั่งให้ระงับการฉาย ทางผู้กำกับจึงมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “ราชรัฐอาวี” พร้อมเปลี่ยนชื่อเรื่องใหม่จาก “หมากเตะโลกตะลึง”  เป็น “หมากเตะรีเทิร์นส” และกลับมาฉายอีกครั้ง

เรื่องย่อ :   กุนซือ พงศ์นรินทร์ อุลิศ (เอ็กซ์ จักรกฤษณ์)  โค้ชหนุ่มไฟแรงผู้ฝันอยากเห็นทีมไทยไปบอลโลก ยังคงไม่ได้รับโอกาสจากสมาพันธ์ฟุตบอลไทย ร้อนถึง “เจ๊มิ่ง” (น้อย โพธิ์งาม) น้าสาวบ้าหวยรวยบอลแฟนพันธุ์แท้ทีมไทย ที่ประกาศถ้าถูกรางวัลที่ 1 จะทุ่มสปอนเซอร์ให้หลานรักพาบอลไทยไปตะลุยบอลโลกให้จงได้ แล้วชะตาก็ลิขิตให้ชีวิตสองน้าหลานผันผวน เมื่อ “เจ๊มิ่ง” ดันถูกล็อตเตอรีชุดใหญ่จังเบอร์ 192 ล้านบาท!! แต่สมาพันธ์กลับพลิกลิ้นแต่งตั้งโค้ชบราซิล อ้างเสียบเพื่อชาติ “เจ๊มิ่ง” ยัวะจัดจูงมือหลานชายบินลัดฟ้าสู่ราชรัฐอาวี ลั่นวาจาคราวนี้อาวีจะไปบอลโลก ซึ่งราชรัฐอาวี ตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ ส่งออกหอยลาย ดำเนินนโยบายเป็นกลาง อาวี เป็นประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรราวแสนคน แต่ติดหนึ่งในสิบประเทศที่คลั่งไคล้ลูกหนังมากที่สุดจากการจัดอันดับประจำปี 2006 ทีมฟุตบอลของพวกเขาถือเป็นสมันน้อยของโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พกสถิติแจกแต้มแหลกไม่เคยชนะทีมใดเลยในการแข่งขันระดับชาติ แต่เด็ก ๆ ชาวอาวีก็เช่นเดียวกับเด็ก ๆ ทั่วโลก นั่นคือฝันอยากเห็นทีมชาติตัวเองลงเตะในมหกรรมระดับโลกนี้สักครั้ง!

“แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century)” (2550)

ผลงาน เจ้ย – อภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล  ผู้กำกับแถวหน้าที่ได้รับการยอมรับในวงการหนังระดับโลก และยังเป็นชาวไทยคนแรกที่คว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ถึง 3 ครั้ง โดย “แสงศตวรรษ” เล่าถึงแพทย์หญิงในโรงพยาบาลชนบท และแพทย์ทหารหนุ่มในโรงพยาบาลในเมือง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์มีเงื่อนไขให้ตัดฉากสำคัญออก 4 ฉาก จึงจะสามารถฉายในเมืองไทยได้ เนื่องจากหวั่นว่าจะกระทบภาพลักษณ์องค์กรศาสนาและองค์กรทางการแพทย์  ได้แก่ 1. ฉากพระเล่นกีตาร์ 2. ฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะปฏิบัติหน้าที่ 3. ฉากหมอชายจูบแสดงความรักกับแฟนสาวที่แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาล และเกิดอารมณ์ทางเพศจนเห็นความผิดปกติของเป้ากางเกง และ 4. ฉากพระเล่นเครื่องร่อน  

ซึ่ง เจ้ย อภิชาติพงศ์ ตัดสินใจไม่ตัดฉากดังกล่าว พร้อมเหตุผลว่า “ในฐานะนักทำหนังคนหนึ่ง ผมปฏิบัติกับหนังของผมประดุจลูกชายและลูกสาว เมื่อผมให้กำเนิดเขา พวกเขาก็มีชีวิตเป็นของตนเอง ผมไม่ใส่ใจว่าผู้คนจะรักหรือเกลียดลูกของผม ตราบใดที่ผมสร้างเขาขึ้นมาด้วยความตั้งใจและความพยายามอย่างสูงสุด ถ้าลูก ๆ ของผมไม่สามารถอาศัยอยู่ในประเทศของเขาเองไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม ก็ปล่อยเขาเป็นอิสระเถิด เพราะมันยังมีพื้นที่อื่น ๆ ที่ต้อนรับเขาอย่างอบอุ่นในแบบอย่างที่เขาเป็น มันไม่มีเหตุผลเลยที่ต้องทำให้พวกเขาพิกลพิการจากระบบแห่งความกลัวหรือความละโมบ มิฉะนั้นแล้วมันก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่คนสักคนหนึ่งจะสร้างงานศิลปะต่อไป” นอกจากนี้ยังปฏิเสธการเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ในปีดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ “แสงศตวรรษ” สามารถคว้ารับรางวังภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก เทศกาลหนังเอเชียโดวิลล์ ประเทศฝรั่งเศส และรางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยมจาก Asian Film Awards ประเทศฮ่องกง ขณะเดียวกันก็เกิดดราม่าขึ้นเมื่อทีมงานได้ติดต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ เพื่อขอรับฟิล์มภาพยนตร์คืนเมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2550 ปรากฏว่า คณะกรรมการฯ ไม่คืนฟิล์มภาพยนตร์ให้ โดยชี้แจงว่าจะคืนให้ก็ต่อเมื่อได้นำฟิล์มไปทำการตัดฉากทั้ง 4 ฉากทิ้งก่อน ด้วยเหตุผลว่าหากส่งฟิล์มในสภาพสมบูรณ์คืนแก่ทีมงาน ทางทีมงานอาจถือโอกาสนำกลับมาตัดเองแล้วส่งเข้าสู่กระบวนการอุทธรณ์อีกครั้ง อันจะทำให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาฯ มีความผิดในการปฏิบัติงานทันที เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์อย่างร้อนแรง ทั้งทางสื่อมวลชน และผู้ไม่เห็นด้วยกับกรณีดังกล่าว ด้าน เจ้ย อภิชาติพงศ์ นิตยสารไบโอสโคป มูลนิธิหนังไทย หอภาพยนตร์แห่งชาติ และ กลุ่มผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย ก็ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้พิจารณากฎหมายเซ็นเซอร์ และระบบการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ของไทย โดยเปิดให้ร่วมลงชื่อสนับสนุนผ่านเว็บไซต์ ก่อนนำไปสู่พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่มีการจัดระบบเรตติ้งเพื่อคัดกรองภาพยนตร์ในปัจจุบัน  ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551  ผู้กำกับภาพยนตร์ได้นำภาพยนตร์นี้เข้ารับการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ถูกสั่งให้ตัดเพิ่มเป็น 6 ฉาก งานนี้ เจ้ย อภิชาติพงศ์ จึงได้ใส่ฟิล์มดำแทนฉากที่โดนตัด เพื่อแสดงถึงการโดนบังคับตัดออก โดยเข้าฉายที่ พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ในวันที่ 10 เม.ย. 51

เรื่องย่อ :  เล่าถึงชีวิตของแพทย์หญิง ในโรงพยาบาลเล็ก ๆ ในต่างจังหวัด ที่มีความทรงจำที่ดีต่อผู้ป่วยและความรัก และชีวิตของแพทย์ทหารหนุ่ม ในโรงพยาบาลทันสมัยในเมือง กับผู้ป่วยพิการและคู่รักของเขาที่กำลังจะจากไป โดยได้อิทธิพลมาจากชีวิตจริงของพ่อและแม่ของผู้กำกับ ซึ่งเป็นแพทย์ทั้งคู่

“ก๋วยเตี๋ยวเนื้อคน” เปลี่ยนชื่อเป็น “เชือดก่อนชิม” (2551)

ภาพยนตร์ดราม่าสยองขวัญจากค่าย “พระนครฟิลม์” กำกับโดย ทิวา เมยไธสง ที่เคยฝากผลงานใน “คนสั่งผี” และ “ผีช่องแอร์” โดย “ก๋วยเตี๋ยวเนื้อคน” ถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม ตีกลับให้ไปแก้ไขเนื้อเรื่องมากถึง 4 ครั้ง และต้องเปลี่ยนชื่อของหนังด้วย  โดยให้เหตุผลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคง และหากออกฉายก็จะทำให้ก๋วยเตี๋ยวขายไม่ได้!  อีกทั้งในหนังยังมีเนื้อหาล่อแหลม เพราะมีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์คนหายในช่วง 6 ต.ค. 2519 เป็นฉากหลัง  โดยผูกกับการสาบสูญของผู้คนที่ร่วมการชุมนุมทางการเมืองในครั้งนั้น ว่ามีความเกี่ยวข้องกับก๋วยเตี๋ยวเนื้อคนของตัวเอก ซึ่งหลังจากแก้ไขแล้ว หนังก็ได้เปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น “เชือดก่อนชิม” ก่อนเข้าฉายได้ในวันที่ 19 มี.ค. 2552

เรื่องย่อ : เรื่องราวของ “บุษ” (ใหม่ เจริญปุระ) หญิงสาวเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อสุดลึกลับ เธอมักอารมณ์แปรปรวนเนื่องด้วยจากการโดนกระทำและพบเห็นความรุนแรงในครอบครัวของตน แถมยังต้องเลี้ยงดูลูกสาวเพียงคนเดียวหลังสามีแอบหนี้ไปกับชู้และทิ้งหนี้สินไว้เบื้องหลัง จนวันหนึ่งเธอได้พบศพของนักศึกษา ที่หนีจากการตามล่าของทหารในช่วงเหตุการณ์ทางการเมืองมาตายในช่องเก็บของในรถเข็นของเธอ ด้วยเหตุใดไม่ทราบเธอได้ลองนำศพของนักศึกษามาปรุงเป็นก๋วยเตี๋ยว และขายดิบขายดีจนกิจการรุ่งเรือง โดยมีเพียง “อรรถพล” (อรุชา โตสวัสดิ์) ที่ล่วงรู้ความลับนี้ ในขณะเดียวกัน “บุษ” ก็ได้สร้างห้องแห่งความลับ เพื่อลวงคนมาฆ่าและนำเนื้อไปทำก๋วยเตี๋ยวขายอีกด้วย

“แมลงรักในสวนหลังบ้าน (Insects in the Backyard)” (2553 )

ภาพยนตร์ที่สะท้อนปัญหาครอบครัว ไปจนถึงสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ผลงานผู้กำกับ กอลฟ์ – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ว่าด้วยเรื่องราวสาวประเภทสอง ที่อยากมีครอบครัวที่สวยงาม  ซึ่งหนังเรื่องนี้ถูกคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ระงับฉาย ด้วยเหตุผล  ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  เช่น มีฉากการร่วมเพศ และ มีการแสดงออกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ “แมลงรักในสวนหลังบ้าน (Insects in the Backyard)” กลายเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการภาพยนตร์ไทย เนื่องจากเป็นหนังเรื่องแรกของไทยที่ถูกห้ามฉายหลังจาก พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่มีการนำระบบจัดเรตติ้ง มีผลบังคับใช้  แทนการเซ็นเซอร์และแบนภาพยนตร์ ตามพระราชบัญญัติฉบับเก่าที่ออกมาตั้งแต่ปี 2473 แม้ได้รับข้อเสนอให้นำหนังไปตัดต่อใหม่ แต่ กอลฟ์ – ธัญญ์วาริน ได้ตัดสินใจต่อสู้  ด้วยการจับมือกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง จึงทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นคดีแรกที่มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ให้ตรวจสอบคำสั่งแบนภาพยนตร์ตามกฎหมายฉบับนี้  โดยคัดค้านคำตัดสินของคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ซึ่ง กอลฟ์ – ธัญญ์วาริน ต้องต่อสู้ถึง 7 ปี จึงสามารถพาหนังเรื่องนี้เข้าฉายในไทยได้สำเร็จในปี เมื่อศาลปกครองตัดสินให้ฉายได้หากตัดฉากร่วมเพศที่เห็นอวัยวะเพศเป็นเวลา 3 วินาทีออกไป จึงสามารถฉายหนังเรื่องนี้ได้ในเรต ฉ. 20 เมื่อปี 2560

เรื่องย่อ :  เรื่องราวของ “ธัญญ่า” (ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์) สาวประเภทสองที่พยายามสร้างครอบครัวที่เป็นสุขและสวยงาม เธออยู่กับน้องสาวและน้องชายวัยเรียนเพียงลำพัง แต่ยิ่ง “ธัญญ่า” พยายามมอบความรักให้น้องๆ ของเธอมากเพียงใด พวกเขากลับยิ่งวิ่งหนีออกห่างจากเธอมากเท่านั้น และเลือกที่จะโบยบินออกไปค้นหาประสบการณ์ความรักในรูปแบบของตัวเอง

“นาคปรก” (2553)

 ภาพยนตร์แอ๊คชั่นดราม่าสุดเข้มข้น ที่สั่นสะเทือนวงการศาสนา พร้อมตีแผ่ด้านมืดของพระสงฆ์ ผลงานของ ภวัต พนังคศิริ ซึ่งได้นักแสดงตัวท็อปของยุคนั้น อย่าง เต๋า สมชาย เข็มกลัด, เร แม็คโดแนลด์ และ ทราย เจริญปุระ มานำแสดง กับเรื่องราวของโจรในคราบพระ โดยหนังเรื่องนี้ ถูกสมาคมพุทธศาสน์สัมพันธ์กับองค์กรอาสาสมัครเพื่อสันติภาพโลก ยื่นหนังสือเรื่องร้องเรียนไปยัง กระทรวงวัฒนธรรม  เพื่อให้พิจารณาเนื้อหาของหนัง โดยมองว่ามีเนื้อเรื่องไม่เหมาะสม กระทบต่อภาพลักษณ์ของศาสนา และอาจทำให้ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์เสื่อมเสีย เช่น พระถือปืน สัมผัสร่างกายผู้หญิง ซึ่งคณะกรรมการได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านพระพุทธศาสนามาร่วมพิจารณา แล้วจึงพบว่าเรื่องนี้มีเนื้อหาสอนเรื่องกฎแห่งกรรม โดยผ่านไปถึง 3 ปี หนังจึงฉายได้ตามปกติ โดยไม่มีการตัดทอนตัวหนังแม้แต่ฉากเดียว โดย “นาคปรก” ยังได้เข้าฉาย รอบปฐมทัศน์โลก ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตรอนโต ครั้งที่ 33  อีกด้วย

เรื่องย่อ : เรื่องราวของสามโจร “ป่าน” (สมชาย เข็มกลัด) , “ปอ” (ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์) และ “สิงห์” (เรย์ แมคโดนัลด์) ที่ร่วมกันวางแผนปล้นรถขนเงิน แต่เคราะห์กรรมทำให้ถูกไล่ตามจับ โดยร้อยตำรวจเอก (พศิน เรืองวุฒิ) และร้อยตำรวจตรี (อรรคพันธ์ นะมาตร์) เมื่อจนมุมตัดสินใจนำเงินที่ปล้นมาได้แอบซ่อนไว้ใต้ดินบริเวณวัด เมื่อเวลาผ่านไปอีกหลายปีย้อนกลับมาขุดหาเงิน จึงรู้ว่าที่ซ่อนเงินอยู่ใต้โบสถ์ ทั้ง 3 จึงตัดสินใจปลอมตัวแฝงเข้ามาในวัดด้วยการบังคับให้หลวงตาบวชให้ เหล่าบรรดาพระทั้งหลายต่างสงสัยในพฤติกรรมของกลุ่มพระใหม่ที่มักลอบเข้าไปขุดพื้นโบสถ์เวลากลางคืน ขณะเดียวกันทางด้านมัคนายกของวัดวางแผนขโมยพระในโบสถ์เดียวกับที่พระปลอมพยายามขุดหาเงินที่ซ่อนไว้ ทั้งสามที่ปลอมตัวเข้ามาจับได้โดยบังเอิญ จนกลายเป็นโจรจับโจร ทำให้พระในวัดต่างเลิกคลางแคลงใจเหล่าบรรดาพระใหม่ และนี่คือจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์พลิกผันที่ยากเกินคาดเดาเมื่อ กิเลส ความเลว และความโลภ เข้าครอบงำถึงส่วนลึกในจิตใมนุษย์ คิดดีทำดี สิ่งนี้จะยังคงสถิตย์อยู่บนโลกใบนี้จริงหรือ

“เชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die)” (2555)

หนังเสียดสีสังคม ที่บทภาพยนตร์แปลและดัดแปลงมาจากบทประพันธ์คลาสสิกเรื่อง “The Tragedy of Macbeth” หรือ “โศกนาฏกรรมของแมคเบธ ของวิลเลียม เชกสเปียร์” ผลงานผู้กำกับ สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์  โดยมีภาพเหตุการณ์จำนวนหนึ่งอิงจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของเมืองไทย  โดยหนังไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ (กองเซ็นเซอร์) กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ถูกห้ามฉายในประเทศไทย ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ระบุว่าหนังเรื่องนี้มีเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ และบางฉากมีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี เนื่องจากมีฉากที่อ้างอิงถึงการล้อมปราบนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 เช่น มีฉากที่คนดูละครเข้าทำร้ายคณะนักแสดงและจับผู้กำกับแขวนคอ ทุบตีด้วยสิ่งของ และมีการนำฟุตเทจภาพความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทยในเดือน เม.ย. 2552 มาใช้ รวมถึงมีการใช้สีสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้ง ทั้งภูตผีในเสื้อคลุมสีแดง  เรื่องของผู้นำที่กระหายอำนาจ ที่อาจสื่อไปในแนวทางทำให้เกิดการแบ่งฝักฝ่าย ซึ่งหนังยังไร้กำหนดฉาย

“ปิตุภูมิพรมแดนแห่งรัก (Fatherland)” เปลี่ยนชื่อเป็น “ราชิดา” (2555 )

ภาพยนตร์รักที่มีประเด็นไฟใต้เป็นฉากหลัง  ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังไทยที่มีผู้ชมรอคอยมายาวนานมากที่สุด ผลงานของผู้กำกับ ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค ที่ดัดแปลงจากนิยายเรื่อง “พรมแดน” ของ วสิษฐ เดชกุญชร  พร้อมหยิบเอาปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาถ่ายทอด ผ่านมุมมองของตำรวจสองนายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  คนหนึ่งเป็นลูกชายนายตำรวจที่เที่ยงตรง และขอไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ยะลา หลังจากครูของเขาเสียชีวิตเพราะถูกคนร้ายลอบยิงขณะทำหน้าที่คุ้มครองครูกับนักเรียน และเพื่อที่จะลืมคนรักที่เสียชีวิตไปจากเหตุการณ์สึนามิ ส่วนอีกคนเป็นหนุ่มนักเรียนนอกจากอังกฤษ ลูกชายข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ ที่มาสมัครเป็นตำรวจเพราะผู้หญิงในฝันของเขาเป็นลูกสาวนายตำรวจ และการที่เขาต้องไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่ยะลาก็ทำให้เขาต้องห่างไกลหญิงคนรัก

ร่วมด้วยนักแสดงระดับซูเปอร์สตาร์  ทั้ง ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่  ในบท “รศ. ดร.ราชิดา” ซึ่งเป็นตัวเดินเรื่อง เวียร์ ศุกลวัฒน์ คณารศ ,  อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม  และ เบลล่า ราณี แคมเปน ซึ่งหนังเรื่องนี้ ผู้กำกับได้ตัดสินใจแบนตัวเอง เพราะนายทุนได้สั่งให้ระงับการฉายเอาไว้ก่อน เพื่อตัดปัญหาที่อาจจะตามมา เนื่องจากเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนในขณะนั้น  กระทั่งผ่านไปกว่า 7 ปี หนังจึงได้ในฉายรอบพิเศษ ที่ห้องประชุม อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในวันที่ 19 ก.ย. 2563  ในชื่อใหม่ว่า “ราชิดา”   

“ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (Boundary)” (2556)

ภาพยนตร์สารคดีท่องเที่ยว ผลงานการกำกับของผู้กำกับรุ่นใหม่  นนทวัฒน์ นำเบญจพล  ซึ่งทางอนุกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม มีคำสั่งไม่อนุญาตให้เผยแพร่ในไทย ด้วยเหตุผลว่า ขัดต่อความมั่นคงของชาติ และกระทบสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ  โดยเนื้อเรื่องยังมีการกล่าวถึงการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณแยกราชประสงค์ ความสูญเสียและวิถีชีวิตของคนต่างจังหวัด และเล่าถึงชีวิตของคนชายแดนที่ติดกับบริเวณเขาพระวิหาร  โดยพูดถึงเขาพระวิหาร จากมุมมองของคนในพื้นที่ว่ามองแตกต่างจากคนนอกพื้นที่อย่างไร ซึ่งในภาพยนตร์มีการสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่ฝั่งไทยและเข้าไปสัมภาษณ์ชาวกัมพูชาในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ผู้กำกับได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการฯ มีมติให้ฉายได้ โดยจัดอยู่ในเรตผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป รวมทั้งให้มีการดูดเสียงบรรรยากาศในภาพยนตร์  ซึ่งเป็นเสียงการประท้วงต่อต้านการชุมนุม ประกอบกับมีเสียงอ้างอิงถึงสถาบันออกไป ความยาว 2 วินาทีออกไป ตามที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ท้วงติงถึงความไม่เหมาะสม เกรงว่าจะก่อให้เกิดความแตกแยกได้ 

เรื่องย่อ : ภาพยนตร์สารคดีท่องเที่ยวที่ว่าด้วยการเดินทางอันเริ่มจากความอยากรู้อยากเห็นของวัยรุ่นกรุงเทพฯ คนหนึ่ง ที่อยากรู้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนต่างจังหวัดและคนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนนั้นดำเนินชีวิตและมีทัศนคติต่อเรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมไทยอย่างไร โดยนำพาไปสู่พื้นที่ที่สวยงามและพื้นที่ที่คนในเมืองไม่มีโอกาสได้พบเห็นทั่วไปใน จ. ศรีสะเกษ และ จังหวัดในประเทศกัมพูชาที่มีชายแดนติดกับไทย และเป็นพื้นที่พิพาทกันระหว่างสองประเทศพอดี ซึ่งหนังพยายามนำเสนอประเด็นความขัดแย้งด้วยความระมัดระวัง และมุ่งหวังประเด็นเพื่อสันติภาพเป็นหลัก  

“ประชาธิป’ไทย ( Paradoxocracy) (2556)

หนังสารคดีที่เล่าถึงไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผ่านมุมมองนักวิชาการ โดยใช้การนำเสนอแบบให้ผู้ถูกสัมภาษณ์มองกล้องและพูดไปเรื่อยๆ (Talking Head)  สลับกับฟุตเทจจริงทางประวัติศาสตร์  ซึ่งหนังเรื่องนี้ ถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดิทัศน์ สั่งให้ดูดเสียงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ออกไป 5 จุด  ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์จะมีทั้งนักวิชาการร่วมสมัย ทั้งฝั่งซ้ายและขวา 14 คน ซึ่งมีแนวคิดและมองแตกต่างกัน  พร้อมชวนคนดูตั้งคำถามกับเรื่องราวการเมืองไทยตาม โดยเผยให้เห็นมุมมองทางการเมืองตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยในช่วงปี พ.ศ.2475 เป็นต้นมา จนถึงช่วงปี พ.ศ.2540 การย้อนมองประชาธิปไตยในประเทศไทยตลอด 80 ปี ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ เช่น ปฏิวัติ 2475, รัฐประหาร 2490, 14 ตุลาฯ 2516, 6 ตุลาฯ 2519, พฤษภาทมิฬ 2535 และยุค  ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายก เป็นต้น โดยผู้ให้สัมภาษณ์ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุ  และผลกระทบในแต่ละเหตุการณ์ ที่ส่งอิทธิพลมาถึงทุกวันนี้  

“อาบัติ” เปลี่ยนชื่อเป็น “อาปัติ” (2558)

หนังสยองขวัญ ผลงาน  ฝน-ขนิษฐา ขวัญอยู่ ผู้กำกับและเขียนบท ที่ได้ แน็ค ชาลี ปอทเจส นำแสดง ว่าด้วยเรื่องราวของสามเณรวัยคะนอง ที่มาบวชหนีความผิด ซึ่งทางคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้สั่งห้ามฉาย  โดยให้เหตุผลว่าสร้างความเสื่อมเสียต่อพุทธศาสนา เนื้อหามีภาพสามเณรที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เสพของมึนเมา  ภาพความรุนแรง และพูดส่อเชิงชู้สาว อีกทั้งไม่เคารพพระพุทธรูป จึงมีการเลื่อนการฉาย ท่ามกลางกระแสโซเชียลสุดเดือดในขณะนั้น ที่ตั้งคำถามถึงเสรีภาพและขอบเขตในการแบนของทางหน่วยงาน ก่อนที่ทางผู้สร้างจะตัดเนื้อหาบางส่วน และเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น “อาปัต” จึงอนุญาตให้ฉายได้ในเรตผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป   

เรื่องย่อ : เรื่องราวของ “พิณ” (พิมพ์พรรณ ชลายนคุปต์) หญิงสาวที่มีความรักอย่างลับๆ กับพระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งมานาน ด้วยความสัมพันธ์ที่ผิดจารีตนี้ทำให้เธอต้องทุกข์ทรมานอยู่กับความผิดบาปในใจ จนในที่สุดเธอก็ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองภายในกุฏิที่เป็นรังรักของเธอกับพระสงฆ์รูปนั้น การมาถึงของ “ซัน” (ชาลี ปอทเจส) เด็กหนุ่มวัยคะนองที่มาบวชในวัดป่าแห่งนี้เพื่อหนีความผิดบางอย่าง กุฏิร้างที่ถูกปิดตายมานานหลังนั้นจึงถูกเปิดขึ้นอีกครั้งจากการขอจำวัดแยกกับพระรูปอื่น การบวชอย่างไม่เต็มใจนี้ทำให้ “ซัน” ยังคงใช้ชีวิตปกติเสมือนวัยรุ่นทั่วไปถึงแม้ตนเองจะห่มผ้าเหลืองแล้วก็ตาม รวมไปถึงการแอบคบหากับ “ฝ้าย” (พลอย ศรนรินทร์) สาววัยรุ่นผู้โหยหาความรัก และดูเหมือนว่าความรักครั้งนี้จะเป็นสิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยวให้ทั้งคู่เชื่อมั่นว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด ทุกการกระทำที่ท้าทายของ “ซัน” ทำให้เขาต้องเข้ามาพัวพันกับความลับที่น่าสะพรึงกลัว อดีตอันดำมืดที่กำลังย้อนกลับมาเอาคืน กฎแห่งกรรมที่ยังไม่หลุดพ้นของคนในวัด และการถูกเฝ้ามองจากสิ่งที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เปรต”

“ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 ” (2561)

ภาพยนตร์สายฮา โรแมติก คอเมดี้ ซึ่งจะเป็นบทสรุปของทุกตัวละคร  “Thibaan live in Korat” ผลงานผู้กำกับ สุรศักดิ์ ป้องศร ที่โดนแบนแบบฟ้าผ่า  ทั้งที่ผ่านการจัดเรตติ้งมาแล้ว โดยทางคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ประกาศว่าหนังไม่ผ่านเซ็นเซอร์ เนื่องจากมีประเด็นอ่อนไหวทางศาสนา โดยสาเหตุมาจากฉาก “พระเซียง”  ขึ้นสวดพระอภิธรรมศพอดีตแฟนสาวที่เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน  ขณะ “พระเซียง” สวดศพอยู่นั้น ก็กั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เดินไปร้องไห้ฟูมฟายและเคาะโลงศพของอดีตแฟนสาวด้วยความเสียใจ จนไม่สามารถรักษาอาการสำรวมของพระภิกษุได้  ซึ่งทีมผู้สร้างยอมตัดฉากที่เป็นปัญหาออกไป และหนังได้เข้าฉาย ด้วยเรตอายุ 15 ปีขึ้นไป

เรื่องย่อ : เรื่องราวป่วน ๆ เมื่อสโตร์ผัก ในฝันของ “ป่อง” เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โดยมีผู้ช่วยนักธุรกิจ “จาลอด” ช่วยงานอย่างขันแข็ง เพราะอยากสร้างเนื้อสร้างตัวให้มั่นคงสมหน้าตา “ครูแก้ว” ด้าน “พระเซียง” ที่เพิ่งสงบจิตใจได้ไม่นาน กลับต้องมาใจสลายอีกครั้ง เมื่ออดีตแฟนสาว “ใบข้าว” เสียชีวิตแล้ว ในขณะที่ “เฮิร์บ” อยากรู้เพศลูกตัวเองมาก จึงพา “เจ๊สวย” ไปถามหลวงพ่อที่วัดจนถึงไปตรวจที่โรงพยาบาล แต่แล้วก็ต้องผิดหวังเมื่อรู้ว่าไม่ได้ลูกชาย “กีโน” ที่อยู่กินกับ “แชมป์” เริ่มเพ้อฝันถึงอนาคตครอบครัวจนหลงลืมพี่สาวท้องแก่ที่คอยเป็นห่วง ส่วน “โรเบิร์ต” หลังจากถูกเดอะแก๊งเอาไปปล่อยวัดแล้วก็ไม่มีใครรู้ชะตากรรม โรเบิร์ต จะสร้างความปั่นป่วนให้วัดหรือไม่  ท้ายสุด “พระเซียง” จะตัดใจจาก “ใบข้าว” ได้อย่างไร ร่วมลุ้นหาคำตอบให้กับคำถามที่ยังคาใจ ว่าทำไม “ใบข้าว” ถึงจากไป?

“หุ่นพยนต์” (2566)

ภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องล่าสุด ของค่ายหนัง ไฟว์สตาร์ ผลงาน ไมค์-ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ ผู้กำกับดังจาก “พี่นาค” ทั้ง 3 ภาค ซึ่งหนังถูกคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ลงมติให้  “หุ่นพยนต์ ” เป็นหนังเรต ฉ. 20+ คือห้ามผู้ชมที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าชม รวมทั้งต้องมีการตรวจบัตรประชาชนที่หน้าโรงภาพยนตร์ นอกจากนี้มติที่ประชุม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 25 และ 26 แห่ง พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ยังได้ให้ตัดฉากดังต่อไปนี้ 1. ตัดฉากชื่อวัดเทพหุ่นพยนต์ 2. ตัดฉากเณรชกต่อยในผ้าเหลือง และมีคำหยาบคายให้น้อยลงเท่าที่จะสามารถทำได้ 3. ตัดฉากคลุกอาหาร เหมือนรังแกให้เด็กชื่อเต๊ะทาน 4. ตัดฉากเณรกอดผู้หญิง ในการต่อสู้ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ (เณรกอดแม่เพื่อปกป้องแม่จากตัวละครที่โดนผีเข้า) 5. ตัดฉากท่องศีล (ข้อ 2) ในขณะที่ฆ่าคนที่ขโมยของ 6. มีข้อสังเกตว่าพระหรือเณรในเมืองไทยต้องโกนคิ้ว แต่ทั้งเรื่องไม่มีพระเณรที่โกนคิ้วเลย ส่งผลให้ทางค่ายหนังตัดสินใจเลื่อนฉายออกไปอย่างไม่มีกำหนด ท่ามกลางความงุนงงของผู้กำกับ ที่เผยด้วยว่า เซ็นเซอร์รอบแรก ปรากฏว่า “ห้ามฉาย” เพราะสร้างความเสื่อมเสียให้ศาสนา และก่อให้เกิดความแตกแยกและสามัคคี พอเซ็นเซอร์รอบที่ 2 โดนจัดเรต  20+  ซึ่งกลายเป็นกระแสที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรงในโซเชียล

ล่าสุด สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ถึงเรื่องผลการพิจารณาจัดเรตภาพยนตร์เรื่อง “หุ่นพยนต์” มีใจความว่า  จากกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีคำสั่งให้ภาพยนตร์เรื่อง “หุ่นพยนต์”  ของภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ ต้องตัดทอนฉากต่างๆ ออก เพื่อให้ได้รับ เรท ฉ. 20 มิฉะนั้น ภาพยนตร์จะถูกห้ามฉาย ซึ่งคำสั่งที่เกิดขึ้น นอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้สร้างภาพยนตร์ คนทำงานแล้ว ก็ยังส่งผลกับผู้ชมภาพยนตร์ทั่วไปที่ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการชมภาพยนตร์ ด้วยคำสั่งที่มาจากดุลยพินิจของคนเพียงไม่กี่คน เพราะแม้จะมีการจัดเรตติ้งภาพยนตร์แล้ว แต่คณะกรรมการก็ยังสามารถสั่งตัดทอนเนื้อหาภาพยนตร์และสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ได้โดยยึดดุลยพินิจของคณะกรรมการเป็นหลัก

สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเห็นด้วยกับการใช้ระบบเรตติ้งภาพยนตร์ เพื่อจัดระดับความเหมาะสมของภาพยนตร์สำหรับผู้ชมภาพยนตร์ตามช่วงวัย แต่สมาคมฯ ขอคัดค้านการใช้อำนาจของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวิดีทัศน์ ในการตัดทอนเนื้อหาของภาพยนตร์และการแบนภาพยนตร์ในทุกกรณี และขอคัดค้านผลการพิจารณาภาพยนตร์ในครั้งนี้ และจะร่วมมือกับผู้ผลิตภาพยนตร์และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “หุ่นพยนต์” ในการคัดค้านผลการพิจารณา และดำเนินการในขั้นต่อไป และสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ขอเรียกร้องให้มีการปฎิรูปกฎหมายภาพยนตร์ จากการที่ พระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2551 ไม่เพียงแต่ไม่ก่อให้เกิดการสนับสนุนวงการภาพยนตร์ไทยอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น ยังเน้นเพียงแต่ให้ภาพยนตร์ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบราชการ จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎหมายนี้เพื่อคืนสิทธิเสรีภาพในการผลิตและรับชมภาพยนตร์ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ และเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์กับวงการภาพยนตร์และประชาชนอย่างแท้จริง

เรื่องย่อ : “ธาม” ออกเดินทางตามหาพี่ชาย “พระธี” ที่บวชเป็นพระอยู่ที่วัดบนเกาะดอนสิงธรรม จนได้เจอกับ “เจษ” ช่างปั้นหุ่นพยนต์ที่ปลุกเสกหุ่นด้วยคาถาอาคม “ธาม” รับรู้ถึงข่าวลือจากพระและชาวบ้านว่า “พระธี” ได้หนีหายสาบสูญหลังจากลงมือฆ่าเจ้าอาวาสวัด แต่ “ธาม” ไม่เชื่อว่ามันคือเรื่องจริงพอๆ กับไม่เชื่อลัทธิประหลาดที่ชาวบ้านนับถือหุ่นปั้นพ่อปู่สิงธรรม จนกระทั่งเกิดเหตุร้ายในหมู่บ้านเมื่อมีหญิงสาวคนหนึ่งหายสาบสูญ มีคนตาย และซ้ำร้ายที่สุดคือหุ่นปั้นพ่อปู่สิงธรรมที่ชาวบ้านนับถือกลับถูกทำลาย ชาวบ้านโกรธแค้นเตรียมตั้งพิธีกรรมสาปแช่งและตามล่ามือมืด ถ้าเล่นกับความงมงาย ท้าทายกับศรัทธา ต้องกล้าเผชิญหน้ากับสิ่งที่มองไม่เห็น!

เห็นได้ชัดว่าทุกเรื่องที่โดน “ห้ามฉาย” หรือ “ตัดฉาก / เปลี่ยนชื่อ” ส่วนใหญ่มักโยงใย หรือไปสะท้อนมุมดำมืดของสังคม และสถาบันต่าง ๆ ทั้งวงการแพทย์ ศาสนา ไปจนถึงการเมืองการปกครอง บางเรื่องก็สมเหตุผลในการปรับบท แต่บางเรื่องก็เหมือนดูจะอ่อนไหวเกินไป จนหลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เมื่องานศิลปะไม่อาจสะท้อนถึงความเป็นจริงได้ การ “แบนภาพยนตร์” นั้นประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับสังคม ประชาชน หรือฝ่ายใดกันแน่