น.ส.นพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมรอบสัปดาห์นี้ (20-26 ส.ค. 64) พบจำนวนข้อความทั้งสิ้น 11,658,390 ข้อความ หลังการคัดกรอง พบข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 195 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 111 เรื่อง โดยเป็นข่าวเกี่ยวกับโควิด 79 เรื่อง สัดส่วนหลักๆ ยังเป็นข่าวปลอม และข่าวบิดเบือนในกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะข่าวปลอมเกี่ยวกับ วัคซีนโควิด และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

“มีข้อสังเกตน่าสนใจว่า แม้เบาะแสข้อความส่วนใหญ่ยังได้มาจากช่องทาง Social Listening Tool ที่ใช้ระบบ AI รวบรวม แต่ตลอดเดือน ส.ค. นี้ มีจำนวนข้อความที่ได้รับแจ้งผ่านช่องทางไลน์ทางการของศูนย์ฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากที่เคยอยู่ในหลักสิบ สัปดาห์ล่าสุดนี้เพิ่มเป็น 11,643,638 ข้อความ สะท้อนว่าช่องทางไลน์ของเราเข้าถึงประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดตามกว่า 2.4 ล้านราย” น.ส.นพวรรณกล่าว

สำหรับการจัดอันดับข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจสูงสุด 3 อันดับแรกในรอบสัปดาห์ ได้แก่ เรื่องเว็บไซต์สำนักบริหารการทะเบียน ระบบตรวจสอบการฉีดวัคซีนของหมอพร้อม กรอกข้อมูลเช็กแล้วจะหายหมดทุกบัญชี เรื่องเว็บไซต์ลงทะเบียนขอรับวัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ สำหรับคนไทย และ เรื่องแบงก์พันปลอมหมายเลขเดียวกันจากต่างประเทศระบาดเข้าไทย ตามลำดับ

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันแจ้งเบาะแส เพราะนับเป็นภาคส่วนสำคัญของความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการทำงานเรื่องการแก้ปัญหาข่าวปลอม อีกทั้ง เมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter  เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรฯ สายด่วน GCC 1111 ต่อ 87