ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 8 มี.ค. เวลาประมาณ 09.00 น. คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) ที่มี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกรรมการ จะประชุมวาระพิเศษในการพิจารณาคัดเลือกผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ ที่จะมาแทน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ.ปัจจุบัน ที่จะครบวาระในวันที่ 21 ส.ค. 66 ท่ามกลางกระแสกดดันของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. เบื้องต้นคาดว่า จะมีการเสนอรายชื่อ 2 คน ให้บอร์ดเลือก คือ

1.นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่

2.นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ.

สำหรับ 2 รายชื่อดังกล่าวมาจากการประกาศของกรรมการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ที่มี น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช เป็นประธานจากทั้งหมด 4 รายชื่อที่สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ.โดยอีก 2 รายชื่อคือ นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน น.ส.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นคนในจาก กฟผ.ทั้งสิ้น โดยกรรมการสรรหาเมื่อ 27 ก.พ. 66 ได้หารือและเสียงข้างมากได้เลือก นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์

อย่างไรก็ตาม รายชื่อดังกล่าวทั้ง 2 รายชื่อต้องไปวัดพลังกันในบอร์ด กฟผ. เพื่อออกเสียงการเลือกผู้ว่าฯ ท่ามกลางกระแสข่าวการโดนกดดันทางการเมือง เพื่อให้ตั้งผู้ว่การ กฟผ. บางราย

รายชื่อบอร์ด กฟผ.ปัจจุบัน ประกอบด้วย 1.นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานกรรมการ 2.พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา กรรมการ 3.นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช กรรมการ (ผู้แทนกระทรวงพลังงาน) 4.นายพรพจน์ เพ็ญพาส กรรมการ 5.นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรรมการ 6.นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี กรรมการ 7.นางสาวนิรมาณ ไหลสาธิต กรรมการ 8.รองศาสตราจารย์กุลยศ อุดมวงศ์เสรี กรรมการ 9.นายพรชัย ฐีระเวช ผู้แทนกระทรวงการคลัง กรรมการ 10.นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร กรรมการโดยตำแหน่งและเลขานุการ

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า วานนี้ (7 มี.ค.) นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง การคัดเลือกผู้ว่าการ กฟผ. เพื่อคัดค้านการล็อกสเปก โดยแถลงการณ์ระบุว่า

ตามที่ สร.กฟผ. ได้เฝ้าติดตามการคัดเลือกผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ และ ครั้งนี้ สร.กฟผ. ไม่ได้รับการประสานงานจากฝ่ายบริหารให้มีส่วนร่วมจัดทำเวทีแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครเป็นผู้ว่าการฯ ซึ่งผิดปกติจากการปฏิบัติเช่นที่เคยเป็นมาทุกครั้งความผิดปกติอีกประการหนึ่ง คือ การนำเสนอชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาถึงคณะกรรมการ กฟผ. ควรเสนอเพียงชื่อเดียวเช่นเคยปฏิบัติกันมา แต่ครั้งนี้มีการเสนอสองชื่อ พร้อมกับมีข่าวจากสื่อมวลชน ได้กล่าวว่า “กรรมการสรรหา เมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2566 ได้หารือและเสียงข้างมากได้เลือก”นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์” แต่รายชื่อดังกล่าวไม่เป็นที่พอใจของระดับบิ๊กพลังงาน เพราะต้องการรายชื่อเป็น ”นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์”

ตามความเห็นของ สร.กฟผ. เห็นด้วยกับคณะกรรมการสรรหาเพราะ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ ความเข้าใจในด้านพลังงานไฟฟ้าเป็นอย่างดี และมีความอาวุโสเหมาะกับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. แต่ถ้ามีผู้อิทธิพลในวงการพลังงานต้องการ นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าเพียง 4 เดือน ในขณะที่อีกสองท่านคือ นายทิเดช เอี่ยมสาย และ น.ส.จิราพร ศิริคำ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่าตามข่าวที่นำเสนอทางสื่อมวลชนจริง นั่นหมายถึง ผู้มีอิทธิพลด้านพลังงานต้องการรวบอำนาจกิจการไฟฟ้าทั้งหมดให้อยู่ในมือ โดยสามารถสั่งผู้ว่าการ กฟผ. ที่เป็นคนของตัวเองได้ เป็นลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทน ย่อมนำมาสู่ความหายนะของ กฟผ. ในท้ายที่สุด

การนำเสนอชื่อสองชื่อในครั้งนี้เป็นตัวชี้วัดคณะกรรมการ กฟผ. ว่าจะมีความเป็นธรรม ความโปร่งใสเที่ยงตรง และไม่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้มีอิทธิพลด้านพลังงาน เพราะว่าคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อทั้งสองท่านแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ คณะกรรมการ กฟผ. จะพิจารณาคัดเลือกในวันที่ 8 มีนาคม 2566

สร.กฟผ.มีความมั่นใจในคณะกรรมการ กฟผ. มาโดยตลอด ว่า มีคุณสมบัติที่ดีงาม จนได้รับความไว้วางใจมาดูแล กฟผ. ซึ่งเป็นสมบัติของท่านและประชาชน อย่างไรก็ตาม สร.กฟผ. จะเฝ้าดูผลการพิจารณาของคณะกรรมการ กฟผ. ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ทิศทางองค์กรและพนักงานพร้อมทั้งประชาชนผู้เป็นเจ้าของ กฟผ.ในการกำหนดทิศทางการต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ขององค์กร ประเทศชาติและประชาชนสืบต่อไป.