ที่สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าหนองโพรง ตั้งอยู่คลองหนองโพรงซอย 2 หมู่ 2 ต.ทับมา อ.เมือง ต.ระยอง นายสุรชัย นานำผล ชลประทานจังหวัดระยอง พร้อมด้วย นายธวัชชัย สุภาผล โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดระยอง นายประเสริฐ วงษ์ศรี นายกเทศมนตรีตำบลทับมา ร่วมกันเปิดทดลองเดินเครื่องสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าคลองหนองโพรง หลังได้มีการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ใช้งบประมาณ 250 ล้านบาท พร้อมกับติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างพนังกั้นน้ำหลังวัดทับมา

นายประเสริฐ เปิดเผยว่า สถานีสูบน้ำดังกล่าว ได้รับงบประมาณสนับสนุน 250 ล้านบาท จากกรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อสร้างในการผันน้ำจากคลองหนองโพรงไปลงคลองน้ำหูลงทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองทับมา ซึ่งมีการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ จึงได้มีการเปิดทดสอบระบบและเดินเครื่องดูประสิทธิภาพของเครื่องสูบน้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้นำชุมชนและประชาชนชาวทับมาในการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งในสถานีฯ มีเครื่องสูบน้ำทั้ง 2 ตัว สามารถสูบน้ำได้ 1 ลบ.ม./วินาที นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ พร้อมเครื่องสูบน้ำอีก 5 เครื่อง ที่บริเวณปากคลองแม่น้ำระยอง-เกาะหวาย ซึ่งจุดดังกล่าว น้ำทะเลหนุนก็สามารถปิดบานประตูแล้วสูบน้ำออกเพื่อให้น้ำในลุ่มน้ำคลองทับมาระบายได้คล่องขึ้น รวมทั้งของสถานีสูบน้ำกลับบริเวณวัดเขาโบสถ์ ต.ทับมา มีการสูบน้ำกลับลงอ่างเก็บน้ำของ บ.อีสท์วอเตอร์และ อบจ.ระยอง ทำไว้สามารถช่วยไม่ให้น้ำไหลลงคลองทับมาได้อีกทาง

นอกจากนั้นยังมีการก่อสร้างพนังกั้นน้ำตลอดคลองทับมาที่มีความยาว 13 กม.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำลงทะเล ขณะนี้ได้งบปะมาณมาก่อสร้างไปแล้ว 8 -9 กม.แล้วเสร็จประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในคลองทับมา หลังฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันพบว่า การไหลของน้ำมีประสิทธิภาพดีกว่าทุกครั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำทับมา ที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วม

ด้านนายสุรชัย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำทับมา ได้รับงบประมาณดำเนินการแก้ไขทั้งระบบวงเงินกว่า 1,900 ล้านบาท โดยมีแนวทางแก้ไข 4 แนวทาง คือ 1.ก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านหนองโพรง สามารถระบายน้ำได้ 1 ลบ.ม./วินาที แนวทางที่ 2.ก่อสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณถนน ค.2 ความสามารถการระบายน้ำ 15 ลบ.ม./วินาที แนวทางที่ 3.ก่อสร้างประตูระบาน้ำและสถานีสูบน้ำปลายคลองทับมา และ 4.พัฒนาบ่อลูกรังเป็นพื้นที่กักและหน่วงน้ำ บริเวณเขาโบสถ์ แล้วเสร็จทั้งระบบประมาณปี 2566 จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำทับมาซ้ำซากเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ