เมื่อวันที่ 5 มี.ค. แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกำหนดจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละจังหวัด จะพึงมีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 86 (1) ที่กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศนั้น คำว่า “ราษฎร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทยนั้น ยืนยันว่าไม่กระทบต่อไทม์ไลน์การเลือกตั้ง เมื่อทราบผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทาง กกต.ออกประกาศจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดจะพึงมีใหม่ทันที ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เป็นระยะเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-13 มี.ค. 66

เมื่อครบกำหนดทาง กกต.แต่ละจังหวัดต้องเร่งนำเสนอรายงานต่อ กกต. มีกำหนดว่าวันที่ 14-15 มี.ค. 66 ที่ประชุม กกต.จะพิจารณารูปแบบการแบ่งเขตทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง จากนั้นวันที่ 16 มี.ค. ประธาน กกต.ลงนามในประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อประกาศราชกิจจานุเบกษาต่อไป สอดคล้องกับกระแสข่าวว่าจะมีการยุบสภาช่วงเวลานี้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระบวนการแบ่งเขตเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จก็สามารถยุบสภาก่อนได้ ไม่มีผลอะไร เพียงแต่เมื่อยุบสภาแล้ว หากพรรคการเมืองใดที่ไม่มีความพร้อมคือยังจัดตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่ครบ ก็จะมีผลกระทบต่อการทำไพรมารีโหวตได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระบวนการแบ่งเขตต้องเริ่มใหม่แบบนี้จะส่งผลต่อไทม์ไลน์การเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ค. หรือไม่ แหล่งข่าวระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีการยุบสภา เมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาจึงจะเริ่มนับหนึ่งคือต้องกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน สมมุตินายกฯประกาศยุบสภาวันที่ 15 มี.ค. กรอบระยะเวลาต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน จะไปจบวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. วันสุดท้ายพอดี ซึ่งปกติจะไม่กำหนดเป็นวันเลือกตั้ง เพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัยเลยเวลาเที่ยงคืนไป ทำให้ กกต.จัดการเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จจะมีความผิดทันที ดังนั้นวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค. ที่มีการพูดกันน่าจะเหมาะสมกว่าเพราะอยู่ในกรอบเวลาไม่เกิน 60 วันตามกฎหมายกำหนด แต่ถ้าสมมุติมีการยุบสภาช่วงประมาณวันที่ 20-21 มี.ค. การกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้งมีความเป็นไปได้เช่นกัน

“ทราบมาว่าทางรัฐบาลอยากให้วันเลือกตั้งเป็นวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค. 66 เนื่องจากตรงกับช่วงวันหยุดยาวที่ประกาศเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเกิดความสะดวกสบาย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต้องเดินทางกลับไปกลับมา อีกทั้งการเลือกตั้งทั่วไปจะต้องมีการเลือกตั้งล่วงหน้า หากกำหนดวันที่ 7 พ.ค. เป็นวันเลือกตั้ง การเลือกตั้งล่วงหน้า 1 สัปดาห์ จะเป็นวันอาทิตย์ที่ 30 เม.ย. ซึ่งวันที่ 1 พ.ค. เป็นวันแรงงานจะตรงกับวันหยุดยาว 3 วันเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการกำหนดวันเลือกตั้งจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนดอีกครั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดความสำเร็จเป็นไปด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม” แหล่งข่าวระบุ.