สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรมเนื่องในวันมาฆบูชา วันจันทร์ที่ 6 มี.ค. 2566 ความว่า ดิถีมาฆบูชาได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้ชวนให้พุทธบริษัททุกหมู่เหล่า รำลึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ประทานแก่พระอรหันตสาวก 1,250 รูป ซึ่งแล้วอุปสมบทโดยวิธีเอหิภิกขุ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ ดิถีเพ็ญเดือน 3 อย่างไรก็ดี หากปีใดเป็นปีอธิกมาส วันมาฆบูชาจะตรงกับดิถีเพ็ญเดือน 4 ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปีนี้

สารัตถะประการหนึ่งในโอาวาทปาติโมกข์นั้น คือ การไม่ทำบาปทั้งปวง อันเป็นหัวใจพระศาสนาประการต้น ที่พุทธบริษัททั่วหน้า พึงยึดถือเป็นหลักประพฤติให้ได้ ก่อนจะก้าวไปสู่การบำเพ็ญความดี และการชำระใจให้บริสุทธิ์ บาปทั้งปวงตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ประมวลอยู่ในอกุศลกรรมบถ 10 ประการ จำแนกเป็น กายกรรม 3 กล่าวคือ การฆ่า การเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ และการประพฤติผิดในกาม วจีกรรม 4 กล่าวคือ คำโกหก คำส่อเสียด คำหยาบคาย คำเพ้อเจ้อ มโนกรรม 3 กล่าวคือ การเพ่งเล็งอยากได้ของเขา การคิดปองร้ายผู้อื่น และความเห็นผิด ครั้นเมื่อได้กระทำกรรมใดกรรมหนึ่งในอกุศลกรรมบถ 10 จึงถูกจัดว่าเป็นบาป

พุทธศาสนิกชนจึงมีหน้าที่ลด ละ และเลิกการกระทำบาปทั้งปวงแม้เล็กน้อย ซึ่งล้วนให้ผลเป็นความทุกข์ ทำให้จิตใจเสื่อมคุณภาพ ยังอุปนิสัยให้กลายเป็นคนถนัดทำชั่ว จนท่วมท้นไปด้วยบาป ดั่งพระพุทธพจน์ที่ว่า “อุทพินฺทุนิปาเตน อุทกุมฺโภปิ ปูรติ อาปูรติ พาโล ปาปสฺส โถกํ โถกํปิ อาจินํ” แปลความว่า “แม้หม้อน้ำยังเต็มด้วยหยาดน้ำฉันใด, คนเขลาสั่งสมบาปแม้ทีละน้อยๆก็เต็มด้วยบาปฉั้นนั้น”

ด้วยเหตุนี้ ทุกท่านพึงขวนขวายบริจาคทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา อันเป็นบุญที่เป็นชื่อของความสุข ขอให้เชื่อมั่นว่า บาปที่ทำลงแล้ว จะอำนวยผลดีไม่ได้ และในขณะเดียวกัน บุญที่ทำลงแล้ว จะอำนวยผลร้ายก็ไม่ได้เช่นกัน เมื่อมั่นใจในหลักของการกระทำแล้ว ย่อมจะมีกำลังใจมุ่งมั่น ไม่ท้อถอยต่อการบำเพ็ญคุณงามความดีต่อไป ผลแห่งบุญทั้งปวง ย่อมจะตามเยียวยาแก้ไขปัญหา พิทักษ์รักษา และดลบันดาลความสุขความเจริญมาสู่ผู้สั่งสมบุญไว้ดีแล้วอย่างแน่แท้ ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงมั่นคงอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอพุทธบริษัททั้งหลาย จงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความรุ่งเรืองไพบูลย์ยิ่ง ๆ ขึ้นสืบไป เทอญฯ