ได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ “การแบ่งเขตอลวน-เลือกตั้งอลเวง” โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการประกาศจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 ซึ่งมีประเด็นการนำจำนวนราษฎรผู้ไม่มีสัญชาติไทยมารวมในการคิดคำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 (1) นั้น คำว่า “ราษฎร” ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย!

แม้งานนี้ กกต. จะยื่นยันว่าผลของคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้น ไม่กระทบ “ไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้ง” เนื่องจากมีการเตรียมแผนสองไว้รองรับ แต่การที่คำวินิจฉัยดังกล่าว ชี้ชัดว่าการดำเนินการของ กกต. ไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น ก็จะส่งผลกระทบกับความน่าเชื่อถือของ กกต. ในฐานะคนคุมกติกาเลือกตั้ง เพราะแค่ก้าวแรกก็ก้าวผิด ก้าวต่อไปยิ่งต้องสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าเป็นคนคุมกิตกาที่เป็นกลาง

ปรับโฟกัสมาดูความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนยุบสภา โดยในการประชุมสภา เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนปิดสมัยการประชุมสามัญ ของ “สภา 3 วันหนี 4 วันล่ม” ก็ยังคงเป็นไปอย่างขลุกขลัก โดยเฉพาะเกมร้อนเรื่องการผลักดัน ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. …. โดยเป็นการขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะบางมาตราออกไป ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมีความพร้อม

ซึ่งก็กลายเป็นการปลุกเสียงต้านในสภายกใหญ่ โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลเองก็ไม่เห็นด้วย ถึงขั้นออกมาขู่คว่ำร่างกฎหมายดังกล่าว จนในที่สุดวิปรัฐบาลต้อง “ชักฟืนออกจากกองไฟ” โดยเลือกโยน “เผือกร้อน” ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จนถูกมองว่าเป็นการใช้กระบวนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยื้อเวลา และหลีกเลี่ยงไม่ให้ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวถูกคว่ำกลางสภา

ทั้งนี้ สังเวียนการเมืองในสภาจะปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่สถานการณ์สังเวียนการเมืองนอกสภา และเกมเลือกตั้ง กลับเริ่มคุกรุ่นมากขึ้นทุกขณะ

โดยหลังจากนี้ ก็คงจะได้เห็นแรงเคลื่อนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เริ่มเปิดจุกร้อน เร่งเครื่องสู่สนามเลือกตั้ง ไล่ตั้งแต่ พรรคเพื่อไทย ที่สร้างความฮือฮาอีกครั้ง หลังเปิดตัว “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน เจ้าพ่ออสังหาฯ หมื่นล้าน ในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และยังมีแนวโน้มที่จะก้าวขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยอีกด้วย

โดยงานนี้ก็มองได้ว่า เป็นการเปิดเกมสกัดจุดอ่อน ของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่แม้จะเป็นที่ป๊อบปูลาร์ทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังมีจุดแข็งด้านเดียวคือการเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งยังขาดจุดแข็งในเรื่องประสบการณ์ และยังไม่ตอบโจทย์ในเรื่องเศรษฐกิจ ดังนั้นการที่พรรคเพื่อไทยเลือกที่จะดึงเอาโปรไฟล์ “เจ้าพ่ออสังหาฯ หมื่นล้าน” ก็ถือเป็นการเติมเต็มจุดอ่อนได้อย่างลงตัว

แต่ก็ยังไม่วายเจอเกมสกัดดาวรุ่ง โดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นแบบเจ็บจี๊ดเลยว่า “เขาเด่นตรงไหน เขาทำอะไร เขาทำธุรกิจ ประเทศชาติไม่ใช่ธุรกิจ…เศรษฐกิจของประเทศ ไม่ใช่เศรษฐกิจหรือธุรกิจของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งแต่เป็นของประเทศ” โดยการออกมาฟาดงวงฟาดงาของ “บิ๊กตู่” ในเรื่องดังกล่าว ก็ถูกมองไปไกลได้ว่า เป็นการส่งสัญญาณข้ามประเทศไปถึง คนแดนไกล “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ 

ขณะเดียวกัน “บิ๊กตู่” และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็มีการเร่งเครื่องเดินเกมรบ ภายใต้สโลแกน “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” ทั้งการเปิดนโยบายเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1,000 บาทต่อเดือน เกทับพรรคพลังประชารัฐที่เปิดตัวนโยบายบัตรประชารัฐ 700 บาทต่อเดือนไปก่อนหน้านี้ นอกจากนั้น ยังมีการทยอยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่กันอย่างคึกคัก ขณะเดียวกัน “บิ๊กตู่” ก็มีการโหมลงพื้นที่กันแบบรัวๆ ทั้งในฐานะนายก และฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ

อย่างไรก็ตาม ทำให้มองได้ว่า เกมยืดเวลาไทม์ไลน์ยุบสภาออกไป จนกระชั้นกับเวลาที่สภาครบวาระในวันที่ 23 มี.ค. 2566 ก็อาจเป็นเงื่อนไขเพื่อรอความพร้อมของพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง!

ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ ที่นำโดย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังคงเดินสายลงพื้นที่เรียกเรตติ้งอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งทยอยเปิดตัวผู้สมัครลอตใหญ่อย่างฮึกเหิม โดยมี “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ขนาบข้างกาย ทำหน้าที่หัวหมู่ทะลวงฟัน ท่ามกลางกระแสข่าวเลือดไหล จากกระแสข่าวลือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แกนนำกลุ่มสามมิตร เตรียมย้ายสำมะโนครัวกลับพรรคเพื่อไทย  ตามคำบอกกล่าวของ นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ว่าอาจจะเป็นข่าวจริงก็ได้

ส่วน พรรคก้าวไกล ก็กลับมาแสดงความสมานฉันท์ โดยมีการเปิดตัว 3 แกนนำอนาคตใหม่ เป็นผู้ช่วยหาเสียง พร้อมเดินสายทั่วประเทศ โดยมี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า พร้อมปักหมุดเวทีปราศรัยใหญ่ภาคอีสานที่จังหวัดของแก่น ภายใต้สโลแกน “อนาคตใหม่ก้าวไกล เพื่อประเทศไทยไม่เหมือนเดิม” เมื่อพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้าแทคทีมกันแบบนี้ ก็เรียกได้ว่า พรรคอื่นจะประมาทไม่ได้!

ปิดท้ายด้วยพรรคที่กำลังโดนถล่มหนักที่สุดในตอนนี้ ก็คือ พรรคภูมิใจไทย ที่กำลังเผชิญกับ “สึนามิการเมือง” จากการเดินหน้าเช็กบิลของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ที่ตั้งเป้าถล่มพรรคภูมิใจไทยแบบจัดหนักจัดเต็ม กระทบกับนโยบายกัญชาเสรีของพรรคอย่างหนัก แต่ดูจากการตั้งรับของ “เสี่ยหนู”อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ยังเป็นไปอย่างมีเชิงว่า “ขอไม่ให้ราคา ก็ไม่อยากจะพูดถึง ขอทำงานดีกว่า เหลืออีก 3-4 เดือน ต้องทำงานอยู่” และยังย้ำว่า ขอไม่ทะเลาะกับคนพาล ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ก็ยืดอกพร้อมให้ตรวจสอบ ปมที่ถูกกล่าวหา โดยมีการส่งหนังสือถึง นายชูวิทย์ เพื่อขอข้อมูลและเอกสารหลักฐานปมเงินทอนรถไฟฟ้าสายสีส้ม

แต่ก็ยังเจอ “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีมติสั่งให้ นายศักดิ์สยาม หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย จากกรณีถูกร้องสอบเรื่องการยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี

ทั้งหมดทั้งมวล คงจะต้องรอไปวัดกันในการเลือกตั้งว่า เป้าหมายที่พรรคภูมิใจไทย ตั้งไว้ว่าจะกวาด ส.ส. เกือบ 100 ที่นั่งนั้น เมื่อเจอสึนามิการเมืองรุมถล่มก่อนเลือกตั้งแบบนี้ จะส่งผลต่อเรตติ้งพรรคภูมิใจไทยมากน้อยแค่ไหน และจะทำให้จำนวน ส.ส. ตกจากเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่

ปิดท้ายกันด้วยการจับตานโยบายพรรคการเมืองแต่ละพรรค ที่จะถูกโยนออกมาหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนจะต้องพิจารณาให้ดีว่า แต่ละนโยบายนั้นเป็นจริงได้แค่ไหน ที่สำคัญพรรคการเมืองต่างๆ ควรบอกกับประชาชนให้ได้รู้ว่า จะเอาเงินมาจากไหน ในการทำนโยบายตามที่พรรคของตนเสนอ เพื่อให้มีหลักประกันขั้นต้นว่า จะสามารถทำนโยบายตามที่หาเสียงไว้ได้จริงหากได้เป็นรัฐบาล

ที่สำคัญในห่วงเวลาการแข่งขันทางการเมืองที่ดุเดือดหลังจากนี้ ขอย้ำถึง กกต. ในฐานะผู้คุมกติกา ที่จะต้องรู้เท่าทันนักการเมือง อย่าปล่อยให้ประชาชนทั้งประเทศ โดนหลอกจากนโยบายขายฝัน ที่ไม่สามารถทำได้จริงเหมือนที่ผ่านมา.