กำลังกลายเป็นเรื่องราวที่บนโลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงสนั่น เมื่อมีหนุ่มรายหนึ่งตกปลาหน้าตาแปลกประหลาดมาได้ตัว 1 ตัว ก่อนโพสต์ขายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวโดยระบุว่า “เขมรสายเก่า 19-20 นิ้ว ดูปลาได้ทุกวันที่เมกะบางนา 450,000”

ภายหลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ออกไป ทำชาวเน็ตเสียงแตกเเบ่งเป็นสองฝั่ง ทั้งกลุ่มที่เข้ามาชื่นชมน้องปลาตัวนี้สวยสมราคา เนื่องจากมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าปกติและมีลวดลายสวยงาม

อย่างไรก็ตาม ยังมีชาวเน็ตบางกลุ่มเข้ามาถามล้นหลามว่า ทำไมปลาดังกล่าวถึงมีราคาสูงขนาดนี้ ต่างสงสัยว่าเป็นการวางราคาขายที่แพงเกินกว่าเหตุไหม ต่อมาก็มีผู้รู้เรื่องปลาประเภทนี้ออกมาตอบกลับว่า “ปลาเสือตอเขมรสายเก่าหายาก​ จำนวนปลามีน้อย​ แต่มีคนต้องการเยอะ แพงจัดเลยครับ ถ้าเป็นเสือตอที่คนไม่นิยมนี่ตัวหลักร้อยเองครับ​ เหมือนกันมากต่างกันที่รายละเอียด​เล็กน้อย​ ถ้าไม่ใช่คนที่เล่นปลาเสือตอมาเห็นก็แยกไม่ออกครับว่า ตัวไหนราคาหลักร้อย ตัวไหนหลักหมื่นหลักแสน​ เผลอๆ บางคนมองว่าตัวหลักร้อยสวยสุดด้วยครับ ถ้าเลือกเล่นปลาตามค่านิยม นี่สิ้นเปลืองมากจริงๆ ครับ”

สำหรับ “ปลาเสือตอ” พบในไทยที่แรก แต่ปัจจุบันหายสาบสูญไปแล้ว ส่วนที่อยู่ในตลาดปลามาจากประเทศกัมพูชา ซึ่งมาจากแหล่งแม่น้ำโขง ได้จากการจับจากธรรมชาติทั้งหมด เนื่องจากปลาเสือตอเป็นปลาที่เพาะพันธ์ุได้ยากมาก โดยเฉพาะปลาเสือตอลายใหญ่

ในอดีตเป็นปลาที่มีความชุกชุมในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และลุ่มน้ำเจ้าพระยาของประเทศไทย แต่เนื่องจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ปลาเสือตอที่มีอยู่ในธรรมชาติลดจ้านวนลงอย่างรวดเร็ว และสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของประเทศไทย ปัจจุบันปลาเสือตอนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และมีการนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยรูปทรงและสีสันที่สวยงามทำให้ปลาเสือตอมีราคาสูง ซึ่งชื่อของปลาชนิดนี้ ได้มาจากสีสันที่มีลายสีดำคาดบนพื้นสีเหลืองเหมือน “เสือ”

“ปลาเสือตอ” จัดเป็นปลาที่มีรสชาติดี เป็นเมนูขึ้นชื่อของจังหวัดนครสวรรค์ ลักษณะทั่วไป ลำตัวแบน ปากยืดหดได้ สีพื้นลำตัวเป็นสีเหลืองนวล หรือสีเหลืองน้ำตาล และมีแถบสีดำขนาดใหญ่ พาดขวางลำตัว บริเวณหัว แผ่นปิดเหงือก ลำตัว และคอดหาง ปัจจุบันอนุกรมวิธานได้แบ่งปลาเสือตอออกเป็น 5 ชนิด ได้แก่ เสือตอลายใหญ่ เสือตอลายคู่ เสือตอลายเล็ก เสือตอปาปัวนิวกีนี และกะพงลาย…

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @Rapee Lamkhaig,@ยงยุทธ ทักษิญ (ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารสัตว์น้ำ),@กลุ่มงานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด