นายชาติชาย สุทธาเวศ รองผู้อำนวยการ สายงานยุทธศาสตร์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า เปิดเผยว่า เอ็ตด้าได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนามาตรฐานดิจิทัล ระยะที่ 1 พ.ศ. 2566-2570 เพื่อเป็นกรอบ แนวทางในการพัฒนามาตรฐานดิจิทัลของประเทศไทยในอนาคต และส่งเสริมให้เกิด มาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีความสอดคล้องกัน เชื่อมโยงกัน มั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ สู่การขับเคลื่อนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และอีคอมเมิร์ซ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่าง เท่าเทียม ร่วมถึงเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

โดยสาระสำคัญของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนามาตรฐานดิจิทัล ระยะที่ 1 พ.ศ. 2566-2570 นั้นกำหนดกรอบการขับเคลื่อนงาน ภายใต้ 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ การพัฒนามาตรฐานดิจิทัล ของประเทศ ที่จะเน้นกลยุทธ์ในการศึกษา วิจัย ทบทวนมาตรฐานแนวปฏิบัติ และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาแผน  2.ยุทธศาสตร์ การสร้างการเชื่อมโยงและบูรณาการระบบ การบริการดิจิทัลทั้งในและต่างประเทศ เน้นกลยุทธ์การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดมาตรฐานเปิด ในบริการดิจิทัลที่สำคัญ พร้อมผลักดันให้เกิดการใช้งาน สร้างเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการกำหนดมาตรฐานร่วมกันสู่การเชื่อมโยงข้อมูลการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

และสุดท้าย 3.ยุทธศาสตร์ การสร้างความตระหนักรู้ด้านมาตรฐานดิจิทัลและสนับสนุนการ ปรับใช้มาตรฐานดิจิทัล ที่เน้นกลยุทธ์การสร้างความตระหนักรู้ ให้ความรู้ คำปรึกษาด้านมาตรฐานดิจิทัล สร้างมาตรฐานในการนำไปใช้งานจริง พร้อมผลักดันให้มีเครื่องมือ กลไก ในการรับรองมาตรฐานดิจิทัล เป็นต้น ซึ่งภายในปี 2570 ประเทศไทยจะต้องมีมาตรฐานดิจิทัลที่สำคัญและจำเป็นเชื่อมโยงข้อมูลและระบบให้ บริการดิจิทัล สามารถทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกที่ ลดการใช้กระดาษและเป็นสังคมไร้เงินสด สามารถยืนยันตัวตน และระบุสิทธิ์ของผู้ใช้งานได้ รวมถึงเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศได้อย่างไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ ในการจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ที่ผ่านมา ETDA ได้มีการศึกษา วิจัย รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น จากการประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 2 ครั้ง และเปิดรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจไปแล้วครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 64 ซึ่งก็ได้มีการนำข้อมูล ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่ได้มาปรับปรุงร่างเรื่อยมา

ดังนั้น เพื่อให้ร่างฉบับนี้ มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง ครบถ้วน สอคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกภาคส่วนสามารถนำไปเป็นกรอบในการดำเนินงานเพื่อร่วมพัฒนามาตรฐานดิจิทัล ของประเทศให้เป็นผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น จึงจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) ครั้งที่ 2  ในวันที่ 27 ส.ค.นี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน ผู้ที่สนใจ ได้เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมเสนอแนะ ปรับปรุงร่างไปด้วยกัน.