มร. สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (HPT) เปิดเผยว่า ต้นปี 64 มียอดการขนส่งสินค้า เพิ่มขึ้นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากธุรกิจนำเข้าสินค้าของประเทศไทยเติบโตขึ้นกว่า 26.2 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 15.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขธุรกิจส่งออกของไทยฟื้นตัวจากปี 63 โดยภาพรวมด้านการส่งออกของประเทศไทยมีมูลค่ารวมที่ 132.3 พันล้านเหรียญสหรัฐในครึ่งแรกของปีนี้ ทั้งนี้ตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมาจากความต้องการของลูกค้าที่ที่ถูกยั้งไว้ ในกลุ่มลูกค้าในอเมริกาเหนือและยุโรป ด้วยสถานการณ์ล็อกดาวน์ ลูกค้าทั่วโลกจึงใช้จ่ายจากรายได้ไปกับการซื้อสินค้า มากกว่าสินค้าด้านบริการ เช่นการท่องเที่ยวช่วงวันหยุด
มร.สตีเฟ้นท์ กล่าวต่อว่าปริมาณการขนส่งสินค้าเข้าออกของ HPT ที่เพิ่มขึ้น ยังมาจากการพัฒนาศักยภาพของบริษัทเพื่อให้บริการแก่เรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่พิเศษ (ULCV) ซึ่งรวมถึงเรือ MSC MINA เรือขนส่งสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีขีดความสามารถในการบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ถึง 23,256 ทีอียู โดยสัดส่วนของการขนส่งด้วยเรือขนส่งตู้สินค้าขนาดใหญ่พิเศษนี้มีมากถึง 12 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเรือขนส่งตู้สินค้าทั้งหมด ที่เทียบท่าเรือของ HPT ในครึ่งปีแรกของปี 64 และมีเป้าหมายจะเพิ่มขีดความสามารถตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ประมาณ 6.75 ล้านทีอียู ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งปริมาณตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ทั้งหมดของประเทศไทยอยู่ที่10.5 ล้านทีอียู ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบัง ถือเป็นท่าเรือที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 20 ของโลก และอันดับที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันHTP เปิดให้ให้บริการในท่าเทียบเรือ A2 A3 C1 C2 D1 และกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาส่วนที่เหลือของท่าเทียบเรือชุด D
ด้านนายอาณัติ มัชฌิมา ประธานบริหารทั่วไป กลุ่มบริษัท อัทชิสันพอร์ท ประเทศไทย กล่าวถึงกรณีขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก ว่า ในพื้นที่แหลมฉบังขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 5.5 % สืบเนื่องจากในต้นปี64 ที่โควิดระบาด ประเทศไทยไม่มีสินค้าส่งออก จึงไม่มีตู้คอนเทนเนอร์หมุนเวียนกลับมา ประกอบกับในประเทศกลุ่มตะวันตก มีมาตรการเข้มงวดในการขนตู้คอนเทนเนอร์ลงจากเรือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ค้างอยู่บนเรือ แต่ปัจจุบันปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มคลี่คลายลง นอกจากนี้ประเทศเกาหลีใต้ยังใช้เรือมาขนตู้เปล่าของบริษัทแบรนด์เกาหลีใต้กลับไป