เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 26 ส.ค. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้จัดการประชุมวิชาการ การวิจัยทางการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 16 หัวข้อ “นวัตกรรมการศึกษา : กล้าเปลี่ยน สร้างสรรค์ ยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย” โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมผ่านระบบออนไลน์และบรรยายพิเศษตอนหนึ่ง ว่า การวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมถือเป็นกลไกลสำคัญในการกำหนดการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาประเทศไทย 4.0 ผ่านการทำวิจัย เพื่อพัฒนาแนวคิด ทฤษฎี กระบวนการ ทัศนะทางการศึกษาใหม่ๆ ในมิติต่าง ๆ เช่น การจัดการสอน หลักสูตรการประเมินผลการเรียนรู้ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้สอน ผู้เรียน โรงเรียน ชุมชม และการเรียนรู้ทางวิชาชีพ เป็นต้น

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า การส่งเสริม การทำวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม ควรมุ่งเน้นการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อยกระดับการวิจัยสู่การเพิ่มศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนสร้างเครือข่ายการทำวิจัยระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ การส่งเสริมกระบวนการทำงานของภาครัฐและเอกชน ในการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมให้เป็นแบบเปิดและบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนสภาการศึกษามีบทบาทสำคัญในการวางกรอบ เป้าหมาย และทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศ เพื่อการพัฒนาศักยภาพ และขีดความสามารถของคนไทยในทุกช่วงวัยผ่านการจัดทำนโยบาย และแผนการศึกษาแห่งชาติ มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แผนการปฏิรูปด้านการศึกษา รวมถึงการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาระบบวิจัย การศึกษา ส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่และกระตุ้นให้นำผลการวิจัย ผลงานสร้างสรรค์ และนวัตกรรมทางการศึกษา ที่สามารถนำไปเป็นประโยชน์ เพื่อนำไปพัฒนาการศึกษาในทุกระดับและประเภทการศึกษาต่อไป

จากนั้น คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ หัวข้อ “เทคโนโลยีและนวัตกรรม การศึกษาในยุคดิจิทัล” ว่า เรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาในยุคดิจิทัล เป็นความหวังการศึกษาไทย แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 หรือไม่มี เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการศึกษาที่ทันสมัย สร้างเด็กในศตวรรษที่ 21 และการสร้างพลเมืองยุค 4.0 แต่เราต้องศึกษาให้ถ่องแท้ว่าจะนำมาใช้อย่างไร ขณะที่ความพร้อมของครู และนักเรียนก็ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นต้องเร่งให้ความรู้แก่ครู นักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งทุกคนจะต้องปรับตัวกันอย่างมโหฬาร เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กระทรวงศึกษาธิการไม่นิ่งนอนใจที่จะนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้กับการศึกษาในยุคดิจิทัล ทั้งนี้ไม่ว่าเทคโนโลยีจะดีแค่ไหน ถ้าเรายังไม่รู้และยังไม่พร้อม ย่อมไม่สามารถที่จะนำมาแทนครูได้ อย่างไรก็ตามในฐานะที่ตนเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เคยคิดจะให้ลูกหรือเด็กนักเรียนได้เรียนกับเครื่อง เพราะเด็กต้องเรียนกับครูและเครื่อง เพื่อให้เด็กมีมนุษยสัมพันธ์กับทุกคน อย่างไรก็ตามการเรียนออนไลน์จะต้องทำให้สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของนักเรียนด้วย และการเรียนออนไลน์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ อยากให้พ่อแม่มีเวลาให้กับลูก เพราะเวลาที่พ่อแม่อยู่กับลูกเป็นเวลาที่มีคุณภาพ

และในเวลา 10.30 น. ได้มีการเสวนาทางวิชาการหัวข้อ “นวัตกรรมการศึกษา : กล้าเปลี่ยน สร้างสรรค์ ยกระดับการศึกษา” โดย ดร.สุภัทร จําปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และ นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) โดย ดร.สุภัทร กล่าวว่า เราอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มาปีกว่า ทำให้สถานการณ์จัดการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนแปลงไป เป็นการเรียนโดยผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น เป็นการเรียนระบบทางไกล ผ่านระบบออนไลน์ ออนแอร์ แต่สิ่งที่พบคือการจัดการศึกษาระบบทางไกลมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายและความสามารถในการมีเครื่องมือสื่อสารของผู้เรียนเป็นอย่างมาก ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ แต่ครูก็สามารถแก้ปัญหาได้ใช้ระบบออนแฮนด์ ที่นำเอกสาร ใบงาน ไปส่งให้เด็กถึงบ้านและยังได้แนะนำพบปะพูดคุยกับเด็กและผู้ปกครองได้ด้วย จะเห็นได้ว่าการจัดการศึกษาบ้านเรามีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตค่อนข้างมาก

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า การจัดการศึกษาในระบบของไทย ที่จะไปเพิ่มทางเลือกให้เด็ก คือ หลังจบ ม.3 จะไปเรียนต่อ ระดับ ม.ปลาย หรือ สายอาชีพ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้ แต่ปัจจุบันเด็กที่เรียนอาชีวะสามารถต่อปริญญาตรีได้แล้ว และที่น่าสนใจ คือ วันนี้สายอาชีวะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น มีเด็กเรียนมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจเพราะถือเป็นการสร้างทางเลือกให้ผู้เรียนสายอาชีพ สำหรับเรื่องคุณลักษณะผู้เรียนที่สภาการศึกษากำหนดว่า ควรเป็นผู้เรียนรู้ตลอดเวลา เป็นนักสร้างสรรค์ เป็นนักพัฒนานวัตกรรม และเป็นพลเมืองดีที่เข้มแข็ง ซึ่งตนคิดว่าการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ได้คุณลักษณะที่พึงประสงค์นั้นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสถานศึกษา ดังนั้นพื้นที่จึงเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบการจัดการศึกษา แต่อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวตนอยากเห็นผู้เรียนที่ถูกพัฒนาอยู่ในสังคมของการเรียนรู้ การใช้ความรู้ในการวิเคราะห์ เลือก และตัดสินใจ อยากเห็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความสามารถในการพัฒนาตนเองในทักษะอาชีพที่จะสามารถอยู่ในสังคมได้ทั้งการเลี้ยงตัวเองและประกอบอาชีพ

ส่วน นายมณฑล กล่าวว่า เส้นทางอาชีวศึกษากำลังจะเติบโตขึ้น ดังนั้นอาชีวศึกษาจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องสร้างนวัตกรรมการศึกษา ที่จะต้องมีความทันสมัย และทันการณ์ คือ ทันต่อความต้องการของผู้เรียนที่มีถนัดมีศักยภาพที่หลากหลาย และทันต่อความต้องการของสถานประกอบการ เพราะการเรียนทุกระดับต้องตอบสนองโลกของอาชีพ คือ การเข้าไปทำงานจริง ดังนั้นอาชีวศึกษาจะมอง 2 ระดับ คือ 1.การพัฒนาผู้เรียนด้วยการสร้างนวัตกรรมจากผู้เรียน ตามมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ ปี 2561 กำหนดให้ผู้เรียนร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมของผู้เรียนที่มีหลากหลาย เช่น ประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ ประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ เป็นต้น และ 2. การสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาของการอาชีวศึกษาทั้งระบบ เพื่อเป็นแรงผลักผู้เรียนที่มีคุณภาพ และขณะนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา หรือ CVM เพื่อเชื่อมโยงการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ทั้ง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี ให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนของอุตสาหกรรมในอนาคต และเมื่อจบการศึกษาแล้วจะต้องไปทำงานได้ทันที

ด้าน ดร.กวินทร์เกียรติ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดให้คนไทยต้องมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกันในทุกด้าน รวมถึงด้านการศึกษาด้วย ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็นความสำคัญเรื่องการสร้างนวัตกรรม และโอกาสทางการศึกษา โดยเห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในขณะนี้มีศักยภาพมากและจะช่วยตอบโจทย์เรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการสร้างโอกาสที่ทำให้เด็กทุกวัยได้มีโอกาสใกล้เคียงกัน ลดความแตกต่างระหว่างเด็กในเมืองและเด็กในชนบท เช่น เรียนครูเก่ง ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งที่ยาก เป็นง่ายได้ อีกทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้เด็กแต่ละคนได้ด้วย