สีธรรมชาติในภาพรวม สีที่ได้มาจากส่วนต่าง ๆ ของพืช ทั้งจากส่วนใบ ราก ลำต้น แก่น ดอก และส่วนผล ทั้งได้จากสัตว์ แร่ธาตุ นำมาสกัดสี โดยในส่วนที่นำมาเป็นสีย้อม นอกจากเติมความสวยงามให้กับผืนผ้า สีจากธรรมชาติยังนำมาใช้ในงานพิมพ์สิ่งทอเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ชวนค้นสีละมุนจากพืชให้สี นำมาสกัดเป็น ผงสี เพิ่มความสะดวกการใช้งานและการจัดเก็บ ปรุงสีธรรมชาติที่สามารถคุมเฉดสีสมํ่าเสมอ ฯลฯ อีกทางเลือกการใช้สีและการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นนำมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

จิราเมธ สุภารัตน์ และ ธรรมทัศน์ ขำรัตน์ นักศึกษาสาขานวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งนำเสนอโปรเจกต์ การผลิตผงสีจากธรรมชาติและการประยุกต์ใช้สำหรับงานพิมพ์สิ่งทอ เล่าถึงการสกัดผงสี การนำผงสีมาใช้สร้างสรรค์ในงานพิมพ์สิ่งทอว่า สีย้อมธรรมชาติเป็นสีที่ย่อยสลายได้มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ด้วยความสนใจและปัจจุบันทุกภาคส่วนให้ความสำคัญต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจึงมีแนวคิดนำเสนอโปรเจกต์ดังกล่าวขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งในวิชาก่อนจบการศึกษา โดยมี ผศ.ดร.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ อาจารย์ที่ปรึกษางานศึกษาวิจัยเรื่องนี้ นักศึกษาสาขานวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งทอ จิราเมธ เล่าเพิ่มอีกว่า สีจากธรรมชาติมีความน่าสนใจหลายมิติ โดยสีธรรมชาติเป็นสีที่มีความโดดเด่นในตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเฉดสี โทนสี

ส่วนพืชให้สีวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติที่นำมาศึกษาทดลอง มีประมาณ 8-9 ชนิด โดยที่เลือกนำมาศึกษามีศักยภาพในการเป็นสีพิมพ์และย้อมวัสดุสิ่งทอ นำมาผลิตเป็นผงสีได้ โดยมีผลการทดลองทั้งความคงทนต่อแสงแดด ต่อการซักล้าง ฯลฯ ที่เลือกนำมาสกัดสีได้แก่ กากกาแฟ แก่นของต้นมะหาด เมล็ดโกโก้ สีจากสัตว์ ได้แก่ ครั่ง อีกทั้งมี ใบมะรุม ใบมังคุด เปลือกมะพูด เปลือกมังคุด มีฝักคูน ครามจากธรรมชาติ โดยแต่ละชนิดให้สีสวยตามธรรมชาติต่างกันไป

“พืชที่ให้สีมีค่อนข้างหลากหลายในธรรมชาติ โดยที่คุ้นเคยมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสีจากดอกอัญชัน สีเหลืองจากขมิ้น ฯลฯ แต่ที่เลือกในกลุ่มนี้ อีกส่วนหนึ่งเกิดจากการลงพื้นที่ในต่างจังหวัด บางชุมชนมีพืชปลูกขึ้นอยู่มากจึงเลือกมาทดลองผลิตผงสี นำวัสดุที่มีในท้องถิ่นกลับคืนสู่ชุมชน เพื่อชุมชนได้นำกลับไปสร้างสรรค์งานคราฟท์ งานประดิษฐ์ในรูปแบบต่าง ๆ สร้างอาชีพ รายได้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอีกทางหนึ่ง

จากพืชธรรมชาติที่เลือก อย่างกลุ่มที่เป็น สีเขียว ได้จากใบมะรุม แต่อย่างไรแล้วสามารถผสมสีจากพืชชนิดอื่น ๆ เป็นสีเขียวได้เช่นกัน แต่จะไม่เหมือนกับสีเขียวจากใบมะรุมที่มีความเฉพาะตัว สีแดง ได้จากครั่ง นอกจากนี้มีกลุ่ม สีนํ้าตาล มีทั้งโทนสีนํ้าตาลเขียว นํ้าตาลเหลือง โดยการทดลองนำใบมังคุดมาสกัดสีซึ่งสีที่ได้เป็นสีนํ้าตาลเหลือง ขณะที่เปลือกมังคุด ให้สีคล้ายกันแต่จะมีความเข้มกว่าใบมังคุด ขณะที่ สีนํ้าเงิน ได้จากคราม ส่วนที่เป็นสีแดงส้ม ได้มาจาก เปลือกทับทิมและเมล็ดคำแสด เป็นต้น

สีผงจากธรรมชาติสำหรับงานพิมพ์ เพนท์ สิ่งทอสำเร็จรูปนี้ผลิตมาจากวัตถุดิบที่ได้มาจากธรรมชาติเหล่านี้ ในกระบวนการผลิตสีผงใช้กระบวนการต้มสกัดวัตถุดิบ เพื่อให้ได้นํ้าสีออกมา จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการอบแห้ง และเข้าสู่กระบวนการบด
ทำเป็นผงที่ละเอียด
โดย จิราเมธ อธิบายเพิ่มอีกว่า หลังจากนำวัตถุดิบมาสกัดสีจะได้เป็นนํ้า เป็นของเหลวซึ่งส่วนที่เป็นของเหลวนี้สามารถนำไปย้อมผ้าได้ แต่อาจมีความยุ่งยากในเรื่องการใช้อุปกรณ์ และที่นำเสนอสร้างสรรค์ทำเป็นผงสีเพื่อให้เกิดการใช้งานสะดวกรวดเร็วทั้งในการพิมพ์งาน และงานเพนท์ โดยเปลี่ยนจากนํ้า นำมาทำเป็นผง

อีกทั้งการเป็นผงสียังช่วยให้การผลิต ควบคุมสีธรรมชาติในเรื่องของเฉดสีมีความใกล้เคียงกันในแต่ละครั้งที่ผลิต และพัฒนาต่อยอดต่อไปได้ โดยครั้งนี้เป็นโครงงานต้นแบบที่นำเสนอแนวคิด ส่งต่อการศึกษา ทดลองต่อเนื่องต่อไป โดยอาจเพิ่มสีใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพิ่มทางเลือกการใช้สี

“พืชหลายชนิดแม้จะให้สี แต่อย่างไรแล้วต้องนำมาทดลอง นำมาสกัดเป็นสีย้อมก่อน ทดสอบว่าสามารถจะให้สีที่มีความคงทนต่อการใช้งานหรือไม่ อย่างสีที่นำมาสกัดเป็นผงสี ได้ทดลองในห้องปฏิบัติการ ทดลองอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการนำมาซักล้างดูว่ามีสีตกหรือไม่ สีผิดเพี้ยนไปจากเดิมหรือเปล่า มีความคงทนต่อแสงอย่างไร ทั้งนี้ กว่าจะได้เป็นสีที่นำมาใช้งานได้ทำการทดลองอย่างละเอียด”

ผงสีที่จัดทำขึ้นนอกจากที่กล่าว นำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนท้องถิ่นนำมาสร้างสรรค์ อีกส่วนหนึ่งที่คำนึงคือ วัตถุดิบเหล่านี้มีอยู่ในปริมาณที่เพียงพอจะผลิตเป็นผงสีที่จะนำมาใช้อย่างต่อเนื่องต่อไปได้ นอกจากการนำเสนอนำมาสกัดเป็นผงสี ที่ผ่านมาเผยแพร่จัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านสิ่งทอ นำองค์ความรู้นี้นำมาประยุกต์ใช้ ในงานพิมพ์และงานเพนท์ โดยในส่วนของงานพิมพ์ แบ่งเป็น พิมพ์จาก Block ไม้แกะลายและการสกรีน โดยงานพิมพ์จะนำผงสีใช้ร่วมกับแป้งพิมพ์เพื่อช่วยในการยึดติดกับตัวผ้า ให้มีความคงทน

นอกจากจัดพิมพ์เป็นผืนผ้าแล้ว สามารถนำตัวผืนผ้าทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า หมวก ฯลฯ อีกส่วนหนึ่งนำมาทดลองสร้างสรรค์ งานเพนท์ ซึ่งมีความคล้ายกันกับงานพิมพ์ แต่งานเพนท์จะเป็นการใช้พู่กันวาดสัมผัสโดยตรงกับผืนผ้า สร้างสรรค์ได้หลากหลายเกือบทุกชนิดของเส้นใย ไม่ว่าจะเป็น ฝ้าย ลินิน ผ้าไหม ไนลอน ฯลฯ

“การทำผงสีจากที่กล่าวจะเป็นกระบวนการที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยง่าย เพื่อให้ชุมชนได้นำไปปรับใช้ โดยภาพรวม เริ่มจากการนำส่วนของพืชได้แก่ ใบ ดอก เปลือก ราก ลำต้น ฯลฯ หรือส่วนของสัตว์ ประเภทแมลงที่ให้สี หรือส่วนของแร่ธาตุที่ให้สีนำไปต้มกับนํ้า ทำการต้มสกัดสีเคี่ยวเพื่อให้เหลือในปริมาณที่เข้มข้นพอเหมาะกับการนำไปทำต่อ

จากนั้นนำไปกรองนํ้าสี และนำสีที่ได้ผสมกับตัวจับเม็ดสี หรือจะใช้แต่เพียงนํ้าสีอย่างเดียวก็ได้ แต่ค่อนข้างใช้เวลานาน จากนั้นนำไปอบหรือนำไปตากแดดให้แห้งและสามารถนำไปปั่นเป็นผงละเอียด โดยทำได้ง่ายแต่สามารถเพิ่มทางเลือกใหม่ ๆ ในงานพิมพ์และงานเพนท์ได้เป็นอย่างดี”

นักศึกษาสาขานวัตกรรมและเทคโนโลยีสิ่งทอผู้สร้างสรรค์ผงสีผลิตจากธรรมชาติ ประยุกต์ใช้สำหรับงานพิมพ์สิ่งทอจิราเมธ ให้มุมมองทิ้งท้ายอีกว่า จากที่กล่าวพืชในประเทศไทยมีหลายชนิด แต่ละชนิดให้สีสันให้ความสวยงามต่างกัน อย่างพืชที่นำมาใช้ปรุงอาหารให้สีสันสวย แต่สีที่ได้จะไม่ค่อยคงทน ขณะที่สีที่นำมาใช้ย้อมจะมีความคงทนได้ดีกว่าซึ่งเหมาะสำหรับงานพิมพ์และการเพนท์ ทำเป็นผงสี โดยการศึกษาทดลองดังกล่าวอาจต่อแรงบันดาลใจ นำไปสู่การสร้างสรรค์ อาจทำให้ค้นพบสีสันใหม่ ๆ เพิ่มสีสันสวยงามจากธรรมชาติก็เป็นไปได้

นอกจากนี้ จากโปรเจกต์ยังมีการนำเสนอ Eco print พิมพ์สีจากใบไม้ การย้อมสีจากสนิม ทั้งศึกษาสีจากคราม ฯลฯ เป็นการใช้สีสันจากธรรมชาติเช่นกัน เป็นอีกส่วนหนึ่งในการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในธรรมชาติ นำมาใช้ประโยชน์เพิ่มมูลค่าสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีเอกลักษณ์.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ