เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ร่วมแถงข่าวรูปแบบร่วมในการผลิตบัณฑิตและพัฒนาครูฐานสมรรถนะ เพื่อพัฒนากำลังคนสำหรับศตวรรษที่ 21 หรือ PTRU Model : Professional Teacher of Rajabhat University  ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรม “วันราชภัฏ โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในฐานะที่ประชุม ทปอ.มรภ ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา และนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมงาน

โดย ผศ.ดร.ลินดา กล่าวว่า คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง ได้ร่วมกันถอดบทเรียน สิ่งที่ได้ร่วมดำเนินการกันมาตลอดระยะเวลา 3 ปี จนเกิดเป็นรูปแบบร่วมในการผลิตบัณฑิตและพัฒนาครูฐานสมรรถนะ เพื่อพัฒนากำลังคน สำหรับศตวรรษที่ 21 ของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ” หรือ PTRU Model : Professional Teacher of Rajabhat University ประกอบด้วย 17 สมรรถนะ บัณฑิตครู ได้แก่ 1.ปฏิบัติงานครูอย่างมืออาชีพ 2.ภาวะผู้นำและสัมพันธ์ชุมชน 3.การบริหารจัดการชั้นเรียน 4.การทำงานเป็นทีม 5.การใช้เทคโนโลยี 6.การสื่อสารอย่างมีกลยุทธ์ 7.บุคลิกภาพความเป็นครูและทัศนคติ : การปรับตัว 8.จิตอาสา จิตสาธารณะ 9.ศิลปะการใช้สื่อ 10.การอำนวยการเรียนรู้ 11.การวัดและประเมิน 12.การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 13.การออกแบบและพัฒนาหลักสูตร 14.การเป็นพลเมืองดี 15.การบูรณาการศาสตร์สู่การสอน 16.นวัตกรทางการศึกษา และ 17.จิตวิญญาณความเป็นครู ซึ่งเรามั่นใจว่ารูปแบบร่วมในการผลิตบัณฑิตและพัฒนาครูฯ ดังกล่าว มีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับความต้องการบัณฑิตครูในศตวรรษที่ 21 ที่จะทำให้คุรุสภาในฐานะผู้กำกับมาตรฐานวิชาชีพครูมั่นใจได้ว่าจะได้ครูมืออาชีพตามมาตรฐานอย่างแน่นอน

น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า รูปแบบร่วมในการผลิตบัณฑิตและพัฒนาครูฐานสมรรถนะ เพื่อพัฒนากําลังคน สําหรับศตวรรษที่ 21 ของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ” หรือ PTRU Model : Professional Teacher of Rajabhat University ถือเป็นกลไกกลการพัฒนาครูได้อย่างชัดเจนและได้เห็นถึงบริบทความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเราต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปมากวันนี้ทำยังไงให้การศึกษาหรือผลลัพธ์เยาวชนของเราได้สามารถปรับเปลี่ยนอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ครูจึงเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนในการพัฒนาผู้เรียน ซึ่งระบบการผลิตครูของมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นระบบใหญ่ที่ดูแลระบบการศึกษาชาติ เนื่องจากทุกวันนี้องค์ความรู้ต่างๆ ไม่ได้หยุดนิ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งเราจะทำอย่างไรให้ครูสามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคนอยากให้ครูทำหน้าที่โค้ชมากยิ่งขึ้น และดึงความรู้ต่างๆ นอกห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ในการสอน เพื่อให้สอดรับกับบริทบทของการศึกษายุคปัจจุบัน

ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ได้พยายามออกแบบหลักสูตรผลิตครู เพื่อที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา และสร้างครูที่จะไปทำให้เด็กและเยาวชนของชาติมีคุณภาพ ซึ่งโมลเดลดังกล่าวที่กลุ่มราชภัฏผลิตออกมานั้นถือว่าสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาในเรื่องการผลิตครูและเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ว่าด้วยการผลิตครูนำคุณภาพสู่สังคม ทั้งนี้ คุรุสภาเป็นสภาวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐาน และเราอยากเห็นการผลิตครูเชิงระบบและนำมาตรฐานวิชาชีพมาใช้อย่างมีคุณภาพและจริงจัง ซึ่งถ้าเราดูโมเดลหลักสูตรที่กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏจัดทำขึ้นจะพบว่า มีกระบวนการใช้และการวิจัยรองรับในการทำงานชิ้นนี้ เพื่อที่จะได้หลักสูตรสมรรถนะทั้ง 17 สมรรถนะออกมา และมีการนำไปทดลองใช้กับสถาบันผลิตครูบางแห่งแล้ว ดังนั้น คุรุสภาเห็นว่าโมเดลดังกล่าวคือรูปแบบหนึ่งของการผลิตครูในประเทศไทยที่สามารถตอบโจทย์มาตรฐานวิชาชีพได้เป็นอย่างดี

ด้าน นายอัมพร กล่าวว่า ในฐานะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยงานผู้ใช้ครู ซึ่งเป็นโอกาสดีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏคิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้น เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของประเทศในหลายมิติ สำหรับรูปแบบที่กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏกำหนดเพื่อพัฒนาครูนั้นจะเกิดความร่วมมือกันกับทุกฝ่ายตั้งแต่ฝ่ายผลิตฝ่ายผู้ใช้ครู และฝ่ายผู้ควบคุมให้ลงมือต่อยอดกันอย่างจริงจัง เพราะขณะนี้ สพฐ.วางแผนการใช้ครูล่วงหน้าเป็น 10 ปี และในอีก 5 ปีข้างหน้า เราจะรู้ว่าจะต้องใช้ครูอีกจำนวนเท่าไหร่และมีเกณฑ์อย่างไร.