ภายหลังที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง “ชนกาธิเบศรดำริ” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเย็นวันที่ 12 ก.พ. 2566 เสร็จแล้ว ระหว่างที่ทรงรับฟังการถวายรายงานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์อาคารต่าง ๆ ภายในพื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ โอกาสนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เจ้าหน้าที่โครงการหลวงเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ชาวบ้านและเกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอ ซึ่งได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ พร้อมกันนี้ทรงโบกพระหัตถ์แย้มพระสรวลทักทายชาวบ้านและเกษตรกรชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอ ซึ่งได้รับประโยชน์จากโครงการ สร้างความปลื้มปีติอย่างหาที่สุดมิได้
โอกาสนี้ นายสำราญ อาชาประดิษฐ์ ผู้ใหญ่บ้านเลอตอ หมู่ 13 และเป็นเกษตรกรรุ่นแรกของโครงการหลวงเลอตอ เป็นตัวแทนชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ และเกษตรกร กล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ ว่า “6 ปี ที่โครงการหลวงเข้ามา ทำให้หมู่บ้านของเราเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว มีทั้งถนน น้ำ ไฟฟ้าและการสื่อสาร พวกเราได้ปลูกผัก ผลไม้ กาแฟ ทำให้มีรายได้ที่แน่นอน เลี้ยงดูครอบครัวได้ และยังมีสุขภาพดีขึ้น เด็ก ๆ ลูก หลาน อยู่อย่างมีความสุข พวกเราจึงอยากจะขอขอบพระคุณพระองค์ท่าน ที่ไม่ทอดทิ้งพวกเรา ให้โครงการหลวงเข้ามาช่วยเหลือ ตอนนี้สภาพป่าที่บ้านของเราเริ่มอุดมสมบูรณ์ขึ้น พวกเราจึงขอให้สัญญาว่าจะดูแลบ้านบนดอยแห่งนี้ให้ดีที่สุด”
“โครงการหลวงเลอตอ” เป็นโครงการหลวงลำดับแรกในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา ลดการปลูกฝิ่น และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร
โดยก่อตั้งเป็น “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งใหม่ ลำดับที่ 35” คือ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ” อ.แม่ระมาด จ.ตาก ที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจทดแทนการปลูกฝิ่น และการทำไร่เลื่อนลอย สำหรับสภาพพื้นที่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาฯครอบคลุม 2 อำเภอ คือ อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของชาวไทยภูเขาเผ่าปกากะญอ 6 หมู่บ้าน จำนวน 1,111 ครัวเรือน เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ห่างไกล ทุรกันดาร ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา และราษฎรยากจน ถือครองพื้นที่ทำกินสืบทอดจากบรรพบุรุษ และดำรงชีพด้วยการปลูกฝิ่นและบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพด
ปัจจุบันในพื้นที่ดังกล่าว มีการปลูกฝิ่นลดลงกว่าร้อยละ 98 พื้นที่เขาหัวโล้นปรับเปลี่ยนไปสู่พื้นที่สีเขียว และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ได้จัดทำแปลงทดสอบสาธิตการปลูกพืช และศึกษาการเจริญเติบโตของพืชภายใต้สภาพแวดล้อมบริเวณศูนย์ฯ เพื่อคัดเลือกชนิดพืชที่มีความเหมาะสมส่งเสริมแก่เกษตรกร ภายใต้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ได้แก่ พืชผัก ไม้ผล และกาแฟ จนสามารถสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีแก่เกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการปลูกป่า ตามแนวพระราชดำริ ให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล ภายใต้บริบทของชุมชน ทำให้หมู่บ้านเลอตอเป็นสังคมที่เข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน.