เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพจเฟซบุ๊ก ‘เอ้ สุชัชวีร์’ ของ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานการศึกษาทันสมัยพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดเผย 3 กลยุทธ์ พิชิตสงครามกับ PM 2.5 ว่า สำหรับการแก้ปัญหา PM 2.5 นั้นจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการเอาชนะกับปัญหาเหมือนกัน  ทั้งนี้การจะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องประกอบไปด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ “เทคโนโลยี กฎหมาย และกายภาพ” ถ้าหากมุ่งแต่แก้เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วละเลยภาพรวม ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จบในคราเดียว

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวถึง 3 กลยุทธ์ ที่ใช้พิชิตสงครามกับ PM 2.5 ไว้ว่า กลยุทธ์แรกต้องตรวจหาศัตรูฝุ่นพิษด้วย “จุดวัดคุณภาพอากาศ 2,000 จุด” โดยการเอาชนะสงครามอันดับแรกต้องรู้ตำแหน่งของศัตรูอย่างทั่วถึง แม่นยำก่อน ซึ่ง กทม. ควรจะมี “จุดวัดคุณภาพอากาศ 2,000 จุด” เสมือน “พลสอดแนม” ที่รายงานอย่างเที่ยงตรง ไม่หมกเม็ด และทั่วถึง มีรายงานทั้งแบบ Realtime และสรุปยอดรายวัน สิ่งนี้จะช่วยในการประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริง ว่าบริเวณไหนมี PM 2.5 เยอะ บริเวณไหนปลอดภัย ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนเมื่อค่ามลพิษอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงต่อสุขภาพได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ก็ยังสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาแนวทางการแก้ปัญหา และป้องกันเฉพาะพื้นที่ได้อีกด้วย

กลยุทธ์ที่สอง “กฎหมายอากาศสะอาด” เป็นอาวุธ กำราบ PM 2.5 อย่างยั่งยืน” การกำหนดอาวุธที่ชัดเจนและเหมาะสม จะช่วยให้เราสามารถกำราบศัตรูอย่างราบคาบ “กฎหมายอากาศสะอาด” จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ไปจัดการกับต้นตอของ PM 2.5 ได้ นอกจากการมีอาวุธแล้วการกำหนดตัวผู้ใช้อาวุธก็สำคัญไม่แพ้กันโดยต้องคณะกรรมการอากาศสะอาดที่เปรียบเสมือน “เสนาธิการ แม่ทัพ” มีหน้าที่ในการกำหนดเป้าหมาย วางแผนนโยบาย ออกมาตรการดำเนินการ กำกับดูแล และติดตามการแก้ปัญหาในภาพรวมอย่างจริงจัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้

แม้ตอนนี้เรามีอาวุธชิ้นอื่น แต่ก็พิสูจน์มาให้เห็นแล้วว่าปัญหา PM 2.5 ยังคงอยู่ ตราบใดที่เราใช้อาวุธไม่เหมาะมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ต่อให้ปรับแก้อาวุธยังไง ปัญหานี้ก็ยังคงอยู่

กลยุทธ์ที่สาม “กำหนดเขตมลพิษต่ำ” ลดควันดำกรุงเทพชั้นใน เพื่อให้ได้อากาศสะอาดคืนมา การกำหนด “เขตมลพิษต่ำ” เป็นการประกาศพื้นที่ควบคุมมลพิษอย่างจริงจัง เสมือนพื้นที่สนามรบ ที่เราต้องขับไล่ PM 2.5 ยึดคืนอากาศสะอาดกลับคืนมา “เขตมลพิษต่ำ” พิสูจน์ให้เห็นในหลายประเทศแล้วว่าสามารถลดปัญหาฝุ่นพิษได้จริง ถึงวันนี้ท้องฟ้ากลับมาสดใส แต่อย่าลืมวันที่ฟ้าหม่นปนไปด้วยฝุ่น อย่าปล่อยให้ปัญหาที่เราพบเจอถูกละลืมเสมือน “ไฟไหม้ฟาง” ที่สุดท้ายเราก็ต้องกลับมาพบกับปัญหานี้อีกในอนาคต ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่เราจะมาร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังและจริงใจ ก่อนที่จะสายเกินไป.