หลังจากก่อนหน้านี้ มีข่าวลือพระเอกดังป่วยหนัก ล่าสุด “โม อมีนา” ได้ออกมาเผยเรื่องสุดช็อกว่า เพื่อนสนิท “อ๋อม อรรคพันธ์” ป่วยเป็นมะเร็ง ตรวจพบตั้งแต่ช่วง ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ว่ามีชิ้นเนื้อขนาด 12 ซม. ขึ้นบนกล้ามเนื้อหัวใจ มันทำให้รู้สึกหายใจไม่ออก ก็รับการรักษามา ทำคีโมมาประมาณ 5 หรือ 6 รอบ และเข้ารับการผ่าตัดไปเมื่อช่วงเช้าวันที่ 31 ม.ค. 66 และยังเผยอีกว่า มีการเจอก้อนเนื้อที่ปอดอีก 2 จุด แต่ต้องรอตรวจก่อนว่าเป็นเนื้อดีหรือเนื้อร้าย

‘โม อมีนา’ เล่าครั้งแรก ‘อ๋อม อรรคพันธ์’ ใจสู้มาก ป่วยมะเร็งทำคีโม-เพิ่งผ่าตัด

เกี่ยวกับการป่วย “มะเร็งหัวใจ” ของพระเอกดัง “อ๋อม อรรคพันธ์” นั้น “เดลินิวส์ออนไลน์” ขอหยิบยกข้อมูลที่ นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทศัลยศาสตร์ ได้เขียนบอกเล่าถึงลักษณะอาการดังกล่าวไว้ดังนี้..

“มะเร็งหัวใจ” พบได้น้อยมาก ส่วนมากแพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่น ปอด เต้านม ลำไส้ มะเร็งที่เกิดในหัวใจเองมักเป็นชนิดที่เกิดจากเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหัวใจ หรือกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดของหัวใจ มีความรุนแรงสูง การรักษามักไม่หายขาดและคนไข้เสียชีวิตรวดเร็วจากการอุดกั้นของช่องหัวใจ หรือเกิดเลือดออกในช่อง เยื่อบุหัวใจและกดหัวใจ มะเร็งอาจแพร่กระจายไปอวัยวะต่าง ๆ เช่น สมอง ปอด ทำให้เสียชีวิตในเวลารวดเร็ว มะเร็งในหัวใจอาจเกิดในชั้นในช่องหัวใจ ที่พบมากจะเป็นห้องขวาบน และขวาล่าง แต่ก็อาจพบในห้องอื่นได้ เช่น ห้องซ้ายบนทำให้เกิดการอุดกั้นหลอดเลือดจากปอด มีเลือดคั่งในปอด มีอาการเหนื่อยง่าย มะเร็งอาจลุกลามในชั้นกลางของหัวใจที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจ และลุกลามมาชั้นนอก ก่อให้มีเลือดออกในช่องเยื่อบุหัวใจ เกิดภาวะกดหัวใจ มะเร็งของหัวใจที่พบมากที่สุดเป็นมะเร็งแพร่จากอวัยวะอื่น เช่น จากมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด ซึ่งจะแพร่มาที่ผนังหัวใจ ด้านนอกและช่องเยื่อบุหัวใจ แต่มะเร็งที่เกิดในหัวใจเองมักเป็นในผนังชั้นกลาง จึงเป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ผนังหลอดเลือด หรือเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจ ที่เรียกว่า angiosarcoma และ rhabdomyo sarcoma

มะเร็งกลุ่มนี้ตอบสนองต่อการฉายแสง และยาเคมีบำบัดไม่ดี จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดถ้าทำได้ โดยปกติผนังหัวใจด้านขวาบนและล่างอาจตัดออกได้ แต่ถ้าลุกลามมาถึงหลอดเลือดแดงหัวใจ ก็อาจต้องต่อทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจจึงจะเป็นการปลอดภัยต่อชีวิตคนไข้ป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หลักของการผ่าตัดต้องผ่าตัดมะเร็งออกให้หมด มิฉะนั้นมะเร็งจะลุกลามมาใหม่ ในระยะเวลาอันสั้นมาก การฉายแสงและให้ยาเคมีบำบัดยับยั้งการ กลับมาของมะเร็งที่ตัดไม่หมดได้น้อยมาก เพราะฉะนั้นโอกาสหายขาดก็จะมีเพียงทางเดียวคือต้องตัดมะเร็งออกให้หมด ในคนไข้บางราย ที่มะเร็งอยู่ที่ผนังหัวใจห้องขวาบนหรือซ้ายบน อาจลุกลามที่ลิ้นหัวใจหรือหลอดเลือดแดงหัวใจบางส่วนก็อาจตัดออกได้โดยต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจและทดแทนผนังด้านนอกหัวใจห้องบนด้วยเยื่อบุหัวใจของคนไข้เอง หรือที่นำมาจากสัตว์ เช่น เยื่อบุหัวใจวัวซึ่งมีบริษัทผลิตมาจำหน่ายทางการแพทย์

มะเร็งปฐมภูมิของหัวใจคือเกิดจากตัวหัวใจเอง มักไม่มีอาการในระยะแรก แต่ต่อมามีอาการเพราะเกิดเป็นก้อนในห้องหัวใจ ถ้าเป็นห้องขวาบนก็อาจมีการรบกวน การไหลกลับของเลือดดำไปหัวใจ เช่น หน้าบวม คอบวม หลอดเลือดดำที่คอโป่ง ตับโต ท้องมานเพราะมีน้ำ ในช่องท้อง ขาบวมกดบุ๋มทั้งสองข้าง เป็นต้น แต่ถ้าเป็นที่หัวใจห้องซ้ายบนก็อาจมีอาการอุดกั้นหลอดเลือดดำ ที่กลับจากปอด เกิดเลือดคั่งในปอด มีอาการเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ หรือเกิดการอัดกั้นลิ้นหัวใจระหว่างหัวใจห้องซ้ายบนและล่าง อาการ เหมือนลิ้นไมตรัลตีบ คือ เหนื่อยง่าย หอบ นอนราบแล้วเหนื่อยมากขึ้น เป็นต้น

การวินิจฉัยมะเร็งหัวใจที่ช่วยมากที่สุดคือการตรวจด้วยเครื่องสะท้อนคลื่นเสียงหัวใจ หรือ echocardiogram การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มีประโยชน์ในการวินิจฉัยมาก เพราะเห็นตำแหน่งก้อนเนื้องอกชัดเจน เห็นว่าก้อนลุกลามถึงลิ้นหัวใจ หลอดเลือดแดงหัวใจหรือไม่ มีเลือดออกในช่องเยื่อบุหัวใจหรือไม่ ช่วยในการวางแผนผ่าตัดได้ดี บางครั้งก้อนมีขนาดใหญ่จนดูเหมือนว่า เป็นก้อนเนื้อจากนอกหัวใจลุกลามที่หัวใจ แต่ CT scan ช่วยยืนยันว่าเป็นเนื้อออกจากหัวใจลุกลามไปภายนอกมากกว่า การวินิจฉัยต้องได้เนื้อเยื่อมาตรวจซึ่งอาจต้องผ่าตัด หรือในกรณีที่เนื้องอกอยู่ใน ห้องหัวใจ อาจใช้สายสวนที่มีปากหนีบตรงปลายไปหนีบเอาเนื้อเยื่อมาตรวจก่อน ซึ่งจะทำได้ในกรณีที่เนื้องอกอยู่ที่หัวใจห้องขวาบน แต่ถ้าอยู่ที่ห้องซ้ายบนก็จะทำได้ยากหรือทำไม่ได้ ก็อาจต้องผ่าตัด ซึ่งถ้าศัลยแพทย์ประเมินว่าสามารถตัดเนื้องอกออกได้หมด การผ่าตัดก็จะเป็นการวินิจฉัยและ การรักษาไปทีเดียวเลย

ข้อมูลที่ตัดสินว่าผ่าตัดได้หรือไม่คือขอบเขตของมะเร็งว่าลุกลามในส่วนหัวใจที่ตัดออกได้หรือไม่ เช่น ผนังหัวใจห้องขวาบน ซ้ายบน อาจตัดออกได้ แต่ถ้าเป็นผนังหัวใจห้องขวาล่างหรือซ้ายล่างมักตัดออกไม่ได้ ลิ้นหัวใจ มักตัดออกแล้วใช้ลิ้นหัวใจเทียมทดแทนได้ หลอดเลือดแดงหัวใจก็อาจทำบายพาสคือ ทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากมะเร็งหัวใจเป็นกลุ่ม sarcoma เป็นส่วนใหญ่จึงมักไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือฉายแสง มีทางเดียวที่อาจจะหายขาดได้คือการผ่าตัด และต้องตัดมะเร็งออกให้หมด มิฉะนั้นมะเร็งจะกำเริบอย่างรวดเร็วและทำให้คนไข้เสียชีวิต

มีตัวอย่าง ผู้ป่วยรายหนึ่งเป็นหญิงมาจากต่างประเทศ มีอาการแน่นหน้าอกและเหนื่อยง่ายจนนอนหงายไม่ได้ต้องนอนตะแคงขวามาหลายเดือน มีขาบวมทั้งสอง ท้องบวม การถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดพบก้อนข้างเงาหัวใจอยู่ทางขวา การตรวจด้วย echocardiogram พบว่าก้อนอยู่ในหัวใจห้องขวาบน ใกล้กับลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องขวาบนและล่าง การตรวจด้วย CT scan พบว่าก้อนเกือบเต็มหัวใจห้องขวาบน และใกล้กับลิ้นหัวใจไตรคัสปิด หลอดเลือดหัวใจเส้นขวาผ่านเข้าไปในเนื้องอก เนื่องจากคนไข้มีอาการหนักมากและการผ่าตัดมีข้อบ่งชี้เพราะมีการอุดกั้นของหัวใจห้องขวาบน และที่ลิ้นหัวใจไตรคัสปิด การผ่าตัดทำโดยเปิดกระดูกตรงกลางหน้าอก ใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม หนีบหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนต้นให้น้ำยาถนอมหัวใจ ตัดหัวใจห้องขวาบนออกทางผนังด้านนอก ตัดลิ้นไตรคัสปิดออก ใช้ลิ้นเนื้อเยื่อเย็บทดแทน และใช้เยื่อบุหัวใจวัวเย็บเป็นผนังหัวใจห้องขวาบน ใช้หลอดเลือดดำ ที่ขาคนไข้มาต่อทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจด้านขวา การผ่าตัดราบรื่นดี คนไข้อาการดีขึ้นหายเหนื่อย นอนหงายได้ และเดินออกกำลังกายได้ อยู่ในโรงพยาบาลประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็กลับบ้านโดยทางเครื่องบินได้ ผลชิ้นเนื้อเป็น angiosarcoma สามารถตัดมะเร็งออกได้หมด หลังผ่าตัด 3 เดือน คนไข้ทำ CT scan ใหม่ไม่พบเนื้องอกเกิดขึ้นใหม่ในหัวใจ อย่างไรก็ตามทางคณะแพทย์แนะนำให้ยาเคมีบำบัดคนไข้ตัดสินใจรับยาในประเทศของเขา

โดยสรุปมะเร็งปฐมภูมิของหัวใจพบได้น้อย มักเป็นชนิด sarcoma มักไม่ตอบสนองกับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือฉายแสง การผ่าตัดเป็นหนทางเดียวที่อาจหายได้ แต่ก็ต้องผ่าในระยะที่เนื้องอกสามารถถูกตัดออกได้หมด

ข้อมูลจาก รศ.นพ.กิตติชัย เหลืองทวีบุญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทรวงอก หลอดเลือดและหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 1 และ 2 / www.phyathai.com