นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค. ได้อนุมัติการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 67 รวมทั้งสิ้น 14 กระทรวง 25 หน่วยงานรับงบประมาณ วงเงินรวม 360,000 ล้านบาท โดยการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีจะอยู่บนหลักการที่ไม่เกินสัดส่วน 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 67 ที่กำหนดไว้ 3.35 ล้านล้านบาท โดยหน่วยงานที่ต้องการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสนอให้ ครม. อนุมัติ ก่อนที่จะมีการยื่นคำขอตั้งงบประมาณต่อผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเนื่องจากสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายที่หน่วยงานต่างๆ จะเสนอตั้งวงเงินมาได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 14 กระทรวง 25 หน่วยงานรับงบประมาณ ประกอบด้วย สำนักนายกรัฐมนตรี เสนอขออนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 67 สำหรับรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ วงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป การจัดหาเครื่องบิน รับ-ส่ง บุคคลสำคัญ ทดแทนเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 19 จำนวน 1 เครื่อง พร้อมอุปกรณ์ อะไหล่ การฝึกอบรม และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่จำเป็น วงเงิน 8,784 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 67 วงเงิน 1,753 ล้านบาท ปี 68 วงเงิน 2,191 ล้านบาท ปี 69 วงเงิน 2,201 ล้านบาท และปี 70 วงเงิน 2,637 ล้านบาท

ขณะที่กระทรวงมหาดไทย เสนอจำนวน 7 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 15,486 ล้านบาท ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการกระทรวงมหาดไทย ระยะที่ 2 วงเงิน 3,344 ล้านบาท การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปา ส่วนภูมิภาค จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 7,587 ล้านบาท ด้านกรุงเทพมหานคร เสนอ 2 โครงการ วงเงิน 4,555 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน กทม. และศูนย์สำรวจและเฝ้าระวังชายฝั่ง (โครงการป้องกันฯ กัดเซาะชายฝั่งบางขุนเทียน) วงเงิน 1,723 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 วงเงิน 2,832 ล้านบาท

ด้านกระทรวงการคลังขออนุมัติให้กรมธนารักษ์ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ พื้นที่โซน C เพื่อเป็นค่าเช่าอาคารให้กับบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) พื้นที่ทั้งหมด 510,000 ตารางเมตร เป็นเวลา 30 ปี ในอัตราค่าเช่า 390 บาท/ตารางเมตร/เดือน หรือปีละ 2,386 ล้านบาท และปรับปรุงอัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้น 7% ต่อปีของค่าเช่าเดิมทุก 3 ปี รวม 30 ปี เป็นเงินทั้งสิ้น 98,931 ล้านบาท แทนส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่มีสิทธิขอใช้งบประมาณ ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ และเป็นผู้ทำนิติกรรมใดๆ เกี่ยวกับการเช่าพื้นที่ในโครงการแทนทุกหน่วนงานในโครงการ

ขณะที่กระทรวงดิจิทัลฯ โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สดช.) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย วงเงิน 1,514 ล้านบาท โดยขอก่อหนี้ผูกพัน 3 ปี (66-68)ส่วนกระทรวงอุดมศึกษาฯ เสนอขออนุมัติงบประมาณโครงการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ภูเก็ต 3,143 ล้านบาท และโครงการอาคารรักษาพยาบาล และสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 1,636 ล้านบาท

ส่วนองค์กรอิสระ และองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญ และในปีงบประมาณ 67 ได้แก่ สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และสำนักงานอัยการสูงสุด วงเงินรวม 66,692.55 ล้านบาท ด้านศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เสนอ โครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 3 ลำระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (67-71) วงเงิน 4,500 ล้านบาท ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเสนอ ขอผูกพันงบประมาณสำหรับโครงการศูนย์การแพทย์เพื่อตอบโต้โรคอุบัติใหม่แห่งชาติบำราศนราดูร (โครงการฯ) (National Center for Emerging and Infectious Diseases : NCEID) 2,229 ล้านบาท

กระทรวงเกษตรฯ เสนอขออนุมัติให้กรมชลประทาน 5 โครงการ วงเงิน 2,766 ล้านบาท ได้แก่ เขื่อนทดน้ำผาจุก จ.อุตรดิตถ์ อ่างเก็บน้ำน้ำกิ จ.น่าน ปรับปรุงคลอดบางขนาก จ.เชิงเทรา ปรับปรุงคลอดระพีพัฒน์แยกใต้ จ.ปทุมธานี และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระพีพัฒน์ จ.สระบุรี ส่วนกระทรวงยุติธรรม เสนอขออนุมัติก่อสร้างเรือนจำ 3 โครงการ ใน จ.อุตรดิตถ์ ชัยนาท ยโสธร รวม 5,004 ล้านบาท โดยผูกพันข้ามปีตั้งแต่ปี 67-69